ข่าวร้ายสำหรับตลาดหุ้นและประชาชนอเมริกัน เกี่ยวกับวิกฤตเงินเฟ้อที่ดูจะรุนแรงเกินคาดคิด ล่าสุดรายงานตัวเลข ราคาผู้บริโภคหรือ CPI ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงถึง 6.2% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังจากที่เมื่อก่อนหน้านี้ประกาศดัชนีราคาต้นทุนผลิต (PPI)ไป 8.6% สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
เนื่องจากชาวอเมริกันต้องเผชิญกับราคาอาหาร กระดาษชำระ ก๊าซ น้ำมัน และทรัพย์สินที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างไม่มีเค้าลางจะลด และอัตราเงินเฟ้อครั้งนี้สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 เรื่องร้อนแบบนี้ปธน.ไบเดนประกาศจะทำสงครามสู้เงินเฟ้อ แต่ไม่มีแผนรูปธรรมใหม่นอกจากขอความร่วมมือกับ ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ตรึงราคา ดูรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์หัวร่อร่า ตอนตอบคำถามสื่อก็รู้ว่า ไบเดนและทีมบริหารไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะกลไกทั้งหมดขึ้นอยู่กับ ราคาพลังงานน้ำมันซึ่งนายทุนยักษ์ของโลกเป็นผู้ควบคุม และสหรัฐฯก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันวิพากษ์รัฐบาลแรงว่า นอกจากไม่แก้ปัญหาวิกฤตเงินเฟ้อแล้วยังทำเหมือนเทน้ำมันราดใส่กองไฟอีกด้วย
เจสัน เฟอร์แมน Jason Furman นักเศรษฐศาสตร์จากโรงเรียนฮาร์วาร์ด เคนเนดี อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจโอบามา ให้สัมภาษณ์ในวารสารไทม์ ว่า”อัตราเงินเฟ้อจำนวนมหาศาลที่เราเห็นคือผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่” “การวางนโยบายที่ผิดก็มีบทบาทอย่างมาก ผู้กำหนดนโยบายประเมินเงินเฟ้อต่ำอย่างเป็นระบบ และพวกยังเทน้ำมันก๊าดลงบนกองไฟอีกด้วย โดยเลือกการใช้จ่ายงบฯของรัฐบาลอย่างมหาศาลซึ่งรวมถึงแพ็คเกจบรรเทาทุกข์ ไปกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจเกินจริง ไม่ได้นำไปแก้ปัญหาวิกฤตห่วงโซ่อุปทานและภาคการผลิต และจะกดดันให้เฟดต้องทำอะไรสักอย่าง
“อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าในยุโรปมาก ยุโรปกำลังเผชิญกับภาวะอุปทานตกต่ำเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ปัญหาห่วงโซ่อุปทานแบบเดียวกัน แต่พวกเขาไม่ได้ทำเหมือนที่สหรัฐทำ”
ตัวเลขยืนยันคำกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้แถลงรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ล่าสุด ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นได้ตัดทอนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ดัชนีทุกรายการของแผนกเพิ่มขึ้น 6.2% ในช่วง 12 เดือนที่สิ้นสุดในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นประจำปีที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1990
การขาดแคลนอุปทานและความต้องการที่แข็งแกร่งกำลังผลักดันให้ราคาพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากการปิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งจากท่าเรือ สู่สถานประกอบการและผู้บริโภค
โจ มันชิน วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตเอง ยังอดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไบเดนเมื่อวันพุธไม่ได้ เขาเขียนบน Twitter โดยปฏิเสธการรับรองของเฟดว่าสถานการณ์เงินเฟ้อจะเป็นเรื่องชั่วคราวนั้นไม่จริง “ตั้งแต่ร้านขายของชำไปจนถึงปั๊มน้ำมัน ชาวอเมริกันรู้ดีว่าเงินเฟ้อมีจริงและกำลังพุ่งไปไม่หยุด”
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ร้องขอให้สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ หาทางลดราคาพลังงาน และให้ทางคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง ( FTC ) เพื่อฉุดให้เงินเฟ้อลดต่ำลง แต่ดูเหมือนจะไม่มีผลในทางปฏิบัติอย่างไร เพราะปัจจัยราคาพลังงานพุ่งถูกกำหนดด้วยกลไลตลาดทุน เมื่อดีมานด์สูงกว่าซัพพลาย
ในด้านราคาสินค้า ได้มีการขอความร่วมมือกับกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ให้ช่วยตรึงราคา เหล่านี้ยังไม่สามารถเป็นหลักประกันคลื่นเงินเฟ้อที่จะยังถาโถมต่อไปข้างหน้า
อย่างไรก็ตามแม้มีความพยายามดังกล่าว แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันพุธที่ 10พ.ยก็ปิดลบแรงต่อเนื่องมาถึงวันนี้ สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อกลับมาเขย่าขวัญนักลงทุนอีกละรอก ทั้ง 3 ดัชนีหลักแกว่งตัวสู่แดนลบหลังจากผ่านช่วงครึ่งวัน หลังข้อมูลอย่างเป็นทางการพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 31 ปี ในเดือนตุลาคม
CNBC สื่อสหรัฐฯชี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งถือเป็นตะกร้ารวมของสินค้าผู้บริโภคตั้งแต่สินค้าจำเป็นขั้นพื้นฐานเป็นต้นว่ากระดาษชำระไปจนถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปั้มและค่าเช่าบ้านในสหรัฐฯไต่สูงขึ้น 6.2% เมื่อเดือนที่ผ่านมาเทียบกับการคาดการณ์ของดาวน์โจนส์ที่ 5.9% และสำหรับอัตราดัชนี CPI ต่อเดือนพบว่าเพิ่มขึ้น 0.9% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.6%