โควิดพ่นพิษ!?พญาอินทรีมาไม่ถึงไทย สายเหยี่ยวเยือนอาเซียน หมายบีบเลือกข้างต้านจีน

1113

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แอนโธนี่ บลิงเคน ได้แจ้งยกเลิกการเยือนไทยกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ดอน ปรามัตถ์วินัย โดยแสดงความเสียใจที่ไม่สามารถเดินทางมาเยือนกรุงเทพฯได้เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโควิดข19 เนื่องจากสมาชิกคนหนึ่งในทีมงานติดโควิด โดยจะเดินทางกลับวอชิงตัน ดี.ซี. อย่างระมัดระวัง หยอดคำเชิญเยือนวอชิงตัน ดี.ซี.ปีหน้า

เดิมทีบลิงเคน มีกำหนดพบปะหารือกับทางเจ้าหน้าที่ไทยในกรุงเทพฯวันนี้ภายหลังจากเยือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทว่าขาสุดท้ายของกำหนดการทัวร์ 3 ประเทศอาเซียนของเขาถูกยกเลิกแล้ว ด้วยความโล่งใจของไทย

ใครที่บอกว่าสหรัฐไม่สนใจอาเซียน ไม่สนใจไทยนั้นคงไม่ตรงข้อเท็จจริงนัก

ตลอดปีนี้ สหรัฐส่งคนสำคัญระดับสูงเดินทางมาไทย-อาเซียนถี่ขึ้น พร้อมกระชับความสัมพันธ์พิเศษในแบบที่ “ไม่เคยเห็นมาก่อน”

ดูลีลาของรมว.บลิงเคนเยือนอินโดนีเซีย-มาเลเซียก็อ่านจุดมุ่งหมายได้ชัดว่า มาเพื่อหามิตรต่อต้านจีนชัดเจน

เริ่มตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ 14 ธ.ค.2564  รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเยือนอินโดนีเซีย ปราศัยที่กรุงจาร์กาตา ประกาศยุทธศาสตร์อเมริกันที่จะกระชับสัมพันธ์ชาติพันธมิตร เสนอเพิ่มความร่วมมือด้านการทหารและข่าวกรองในอินโด-แปซิฟิก ขณะเดียวกัน ก็โจมตีเล่นงานปักกิ่งด้วยการประณามจีนหยุดการกระทำก้าวร้าวในภูมิภาคนี้ในเรื่องอื่นๆ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ สำทับว่า วอชิงตันจะเดินหน้ากดดันรัฐบาลทหารในพม่าให้ยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และฟื้นระบอบประชาธิปไตยบนพื้นฐานความหลากหลาย

US Secretary of State Antony Blinken (R) meets with Indonesian Foreign Minister Retno Marsudi (2-L) at the Pancasila Building in Jakarta on December 14, 2021. (Photo by OLIVIER DOULIERY / POOL / AFP)

วันพุธที่ 15 ธ.ค.2564 รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวระหว่างเยือนมาเลเซียว่า สหรัฐกำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อกดดันรัฐบาลทหารเมียนมากลับสู่วิถีประชาธิปไตย รวมถึงดูว่าการกระทำต่อชาวมุสลิมโรฮีนจาเป็นการล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ ทั้งเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชิญผู้นำอาเซียนประชุมสุดยอดนัดพิเศษปีหน้าแน่นอน

ด้านไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียจะหารือกับเพื่อนสมาชิกในประชาคมอาเซียน เกี่ยวกับคำเชิญของผู้นำสหรัฐ ระหว่างการประชุมวันที่ 19 ม.ค. 2564

บลิงเคนกล่าวว่า การประชุมที่สหรัฐเชิญอาเซียนเข้าร่วมในปีหน้า นอกจากจะหารือเกี่ยวกับวิกฤติในเมียนมาแล้ว ยังคาดว่าจะครอบคลุมประเด็นอื่นๆ เช่น การฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การลงทุน และโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯวางให้ไทยในฐานะมิตรเก่าแก่ เล็งเป็นที่ตั้งฐานใหญ่ปฏิบัติการในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยถือว่าเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่มีปัญหาขัดแย้งกับจีน ทั้งในเรื่องเขตแดน หรือความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ทำให้ไทยดำเนินนโยบายได้แบบอิสระ หรืออีกด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า “ได้ประโยชน์จากทั้งสองขั้วมหาอำนาจ” ดังกล่าว เพราะด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อสำคัญในภูมิภาค ทำให้ทุกฝ่ายต้องเข้าหาไทย อยากให้ไทยเข้ามาเป็นพวก

วาระของสหรัฐอเมริกาในอาเซียน และประเทศไทย หากโฟกัสมาเฉพาะประเทศไทยที่ผ่านมา สหรัฐฯพยายาม “เปิดเกมรุก” เข้าหาไทยมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลดบทบาทลงไปในยุครัฐบาลทรัมป์ สหรัฐฯได้พยายามเพิ่มบทบาทกับไทย ทั้งการลงทุน การขายอาวุธให้ไทย การกระชับความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรดั้งเดิม ซึ่งการเยือนไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเยือนในระดับอาวุโสสูงสุดเลยทีเดียว แต่ก็ไม่อาจเหยียบแผ่นดินไทยด้วยโดนโควิดสกัดเสียก่อน

ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ เป็นแผนภูมิรัฐศาสตร์ที่วางไว้เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีน  ความตั้งใจในการทัวร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นการพยายามทำลายสภาพแวดล้อมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค ตามแผนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งแวดล้อมทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดีย อีกทั้งพยายามแทรกลิ่ม จุดความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์การเมืองอย่างเต็มที่ในแบบที่ทำกับภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก

แต่แน่นอนว่าไทยเรามีจุดยืนชัดเจนในการวางตัวเป็นกลางระหว่างขั้วมหาอำนาจ ด้วยความสัมพันธ์ที่เรามีกับมหาอำนาจทั้งสองมาอย่างยาวนาน และรวมทั้งรัสเซียที่เริ่มแสดงบทบาทมากขึ้นในย่านนี้ ซึ่งคาดว่าจะจัดเต็มมากขึ้นในปีหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย  คงต้องจับตาต่อไปว่าเมื่อสหรัฐฯ ทำคะแนนถี่ขนาดนี้ ทางจีนจะเดินเกมส์แบบไหนต่อไป เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับไทยและภูมิภาคอาเซียน ให้ไม่แพ้ที่สหรัฐฯรุกหนักในปีนี้