สภาอุตสาหกรรมฯชงรัฐเพิ่มวงเงินคนละครึ่ง!?! 6 เดือน 6,000 บาท วอนเร่งออกมาตรการช่วยพยุงเอสเอ็มอีสู้โควิดเพิ่มเติม

1364

การประชุมครม.ครั้งล่าสุดได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 มาตรการ ด้านสภาอุตสาหกรรมฯ ได้เสนอรัฐบาลควรเพิ่มวงเงิน”คนละครึ่ง” เป็น 6,000 บาทจึงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั่วถึงและเพียงพอ สนับสนุนให้เร่งออกมาตรการพยุง SME เพิ่มเติม พร้อมประเมินเศรษฐกิจฟื้นแน่นอนประมาณปี 65 สำหรับมาตรการ “คนละครึ่ง”ขยายสิทธิ์อีก 16 ล้านราย เปิดยืนยันตัวตนสำหรับคนที่เคยได้รับสิทธิ์แล้ว และผู้สมัครใหม่ต้องลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2564เวลา 06.00-22.00 น.

วันที่ 3 มิ.ย.2564  นายสุพันธุ์ มงคลสุธีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.64 รวมให้เงิน 3,000 บาท ครอบคลุมประชาชน 31 ล้านคน เป็นระยะเวลาเริ่มต้นโครงการที่ช้าไปควรเริ่มโครงการได้ทันทีในเดือนมิ.ย.นี้ ขณะที่วงเงินที่ให้น้อยไปอาจไม่เพียงพอกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. มีความเห็นว่าวงเงินโครงการคนละครึ่งควรอยู่ที่ 6,000 บาท เพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจให้ได้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าโครงการคนละครึ่งเป็นโครงการที่เห็นผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วและกระตุ้นได้มากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาล

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 6 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “มาตรการเยียวยาแบบไหนถูกใจSME” 

ผู้บริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ มากกว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 อันเนื่องมาจากความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ และการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ SME ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบการเช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟ ร้อยละ 30 และการลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการ ค่าส่วนกลางของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและพื้นที่เช่าโรงงาน ร้อยละ 50

โดยการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อ SME มากกว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 89.4 รองลงมามองว่าได้รับผลกระทบเทียบเท่ากับปี 2563 และน้อยกว่าปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 5.3 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในส่วนของความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SME ของภาครัฐในปัจจุบัน ส.อ.ท.มองว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของSME ได้ 3 อันดับแรก ได้แก่ 

1.มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เช่นคนละครึ่งเฟส 3, เราชนะ, ม.33, ขยายวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 71.2 

2.มาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือฝั่งละ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 64.7 และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 คิดเป็นร้อยละ 61.8 อย่างไรก็ตามภาครัฐยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ SME เพิ่มเติม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ

FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงกรณีที่ภาครัฐเตรียมออก พ.ร.ก. กู้เงิน5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ว่าควรนำเงินดังกล่าวไปใช้ในเรื่องใด พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหารส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับ1)การฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 74.1 2)รองลงมาเป็นการช่วยเหลือ เยียวยาให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 70.6 และ3)แก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ65.9 

ขณะเดียวกันประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 37.1 รองลงมาเป็นช่วงปลายปี 2565 คิดเป็น ร้อยละ 23.5 อีกทั้งมองว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอ ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 21.8 และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2564 คิดเป็นร้อยละ17.6