จากรายงานผลการส่งออกของไทยโดยรวม 9 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.5 เฉพาะเดือนกย.ขยายตัว 17.7% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 20.4 สะท้อนภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)ของไทยนับว่าแข็งแกร่งแม้เผชิญการระบาดโควิด และมีมาตรการเข้มงวดป้องกันโรคระบาดของรัฐออกมาหากพิจารณาตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังลูกค้าหลัก ซึ่งจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่โดยเฉพาะผลไม้สดและอื่นๆ 9 เดือนโตต่อเนื่อง 27% ขณะที่สหรัฐประมาณ 20%
จะเห็นชัดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยเรายังไปได้สวย และการประชุมครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับเน้นย้ำเรื่อง การใช้นวัตกรรมฉายรังสีเพิ่มมูลค่าอาหารอย่างจริงจัง ผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออกผลไม้ หลัง จาก 12 ประเทศคู่เอฟทีเอของไทยไม่เก็บภาษีนำเข้าผลไม้สดแช่แข็งและแห้งที่ส่งออกจากไทยแล้ว และยังได้สิทธิ์ลดภาษีภายใต้ RCEP เพิ่มขึ้น ส่วนช่วง 9 เดือนไทยส่งออกผลไม้ไปประเทศคู่ FTA สัดส่วนสูงถึง 97% ทุเรียนนำโด่งส่งออกพุ่ง 67% ตามด้วยมะม่วง ลำไย เงาะ และมังคุด และในส่วนมากส่งไปจีน ซึ่งผ่านไปได้งดงามในปีนี้ แต่ปีหน้าเค้าลางอุปสรรคการส่งออกไทยเริ่มมาให้เห็น เมื่อลูกค้ารายใหญ่ของเราทั้งสองประเทศคือ จีนและสหรัฐ มีท่าทีจะเข้มงวดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศชัดเจนและแน่นอนย่อมส่งผลต่อการส่งออกไทย
เรื่องนี้ ประธานผู้ส่งออกอาหารได้ออกมาเตือนผู้ส่งออกไทยให้ปรับตัว เตรียมอีก 2 เดือน “จีน”เตรียมใช้กฎเหล็กควบคุมอาหารนำเข้า โดยออกข้อกำหนดบังคับผู้ผลิตอาหารต่างชาติขึ้นทะเบียนกับศุลกากรจีน GACC- พร้อมใบรับรองจากหน่วยงาน CA ไทยก่อน ซึ่งจะบังคับใช้ 1 ม.ค. 2565นี้
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2564 นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทางสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนแจ้งว่า วันที่ 1 มกราคม 2565 สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic China : GACC) เตรียมบังคับใช้ประกาศกฎระเบียบว่าด้วยทางการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นระเบียบใหม่ของจีน สำหรับนำเข้าสินค้าอาหาร
โดยผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 248 ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ และระเบียบฉบับที่ 249 ว่าด้วยมาตรการความปลอดภัยสำหรับอาหารนำเข้าและส่งออก ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้ผลิตอาหารจากต่างประเทศต้องขึ้นทะเบียนกับ GACC ก่อนการส่งออกไปยังจีน
โดยจะแบ่งการขึ้นทะเบียนสินค้าเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มสินค้าที่ต้องขึ้นทะเบียนผ่านหน่วยงานกำกับดูแล (competent authority : CA) ซึ่งจะครอบคลุมสินค้า 18 รายการ
และ 2) กลุ่มสินค้าที่ขึ้นทะเบียนโดยตรงกับ GACC
ซึ่งมีกลุ่มสินค้าที่ต้องขึ้นทะเบียนผ่าน CA ของไทย จำนวน 18 ชนิด โดยกลุ่มสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์นม รังนกและผลิตภัณฑ์จากรังนก หากผู้ผลิตขึ้นทะเบียนกับจีนเรียบร้อยแล้ว การขึ้นทะเบียนดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าทะเบียนจะสิ้นอายุ
ซึ่งหากทะเบียนหมดอายุหลังวันที่ 1 ม.ค. 65 จากนั้นผู้ผลิตต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนตามระเบียบ 248 กับ CA เดิมของไทย ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตรายใหม่ที่ไม่เคยได้รับการขึ้นทะเบียน หรือจะส่งออกครั้งแรก ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 64 สามารถขอขึ้นทะเบียนผ่าน CA ตามระเบียบเดิม หรือปฏิบัติตามระเบียบ 248 ก็ได้ หลังวันที่ 1 ม.ค. 65 ขึ้นทะเบียนผ่าน CA โดยปฏิบัติตามระเบียบ 248
ส่วนผู้ผลิตกลุ่มสินค้าอีก 14 ชนิด ได้แก่ ไส้สำหรับทำไส้กรอก ผลิตภัณฑ์ผึ้ง ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่ น้ำมันและไขมันเพื่อการบริโภค ผลิตภัณฑ์จากแป้งสำเร็จรูปยัดไส้ ธัญพืชเพื่อการบริโภค ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชบดเพื่อการอุตสาหกรรมและข้าวมอลต์ ผักสด ผักอบแห้งและถั่วอบแห้ง เครื่องปรุงรส ถั่วและเมล็ดพืช ผลไม้แห้ง เมล็ดกาแฟและเมล็ดโกโก้ที่ไม่ผ่านการคั่ว อาหารจำเพาะเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
ซึ่งในส่วนของผู้ผลิตที่เคยมีประวัติส่งออกไปจีน เฉพาะผู้ผลิตที่เคยส่งออกไปจีนตั้งแต่ 1 ม.ค. 60-31 ต.ค. 64 ให้แจ้งข้อมูลผ่าน CA ที่รับผิดชอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนตามกลุ่มประเภทสินค้า โดยกรอกแบบฟอร์มมีรายละเอียดชื่อบริษัท ที่อยู่ HS code (8-10 digits) ของสินค้าที่มีการส่งออกไปจีน และวันที่มีการส่งออกสินค้าล่าสุด พร้อมแนบหลักฐานการส่งออกไปจีนล่าสุดด้วย เช่น ใบ invoice เป็นต้น
แต่หากผู้ผลิตไม่เคยมีประวัติส่งออกไปจีน หรือเคยมีประวัติส่งออกไปจีน แต่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่กำหนด ขึ้นทะเบียนผ่าน CA โดยปฏิบัติตามระเบียบ 248 และต้องแนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามระเบียบ 248 ข้อ 8
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ผู้ผลิตต้องขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง ผู้ผลิตอาหารประเภทอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก 18 กลุ่ม สามารถขึ้นทะเบียนด้วยตนเองได้โดยช่องทาง Single Window ที่ www.singlewindow.cn โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในมาตราที่ 9 ของระเบียบ โดยต้องมีเอกสารตามที่ระบุในมาตรา 9 ของระเบียบ เช่น แบบคำขอการขึ้นทะเบียน เอกสารระบุตัวตน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทะเบียนที่ผู้ผลิตอาหารไปยังประเทศจีน จะมีอายุ 5 ปี และหากจะต่ออายุต้องส่งเอกสารให้ GACC พิจารณาล่วงหน้า 3-6 เดือนก่อนทะเบียนเดิมหมดอายุ