นักเขียน The MATTER-a day โดนแฉยับ หลังแอบอ้างชื่อ “ดร.สิตางศุ์” ด้อยค่าเขื่อน แถมหมิ่นเหม่ให้ร้าย ร.9

2351

งานนี้จบไม่สวย! นักเขียน The MATTER-a day โดนแฉยับ หลังแอบอ้างชื่อ “ดร.สิตางศุ์” ด้อยค่าเขื่อน แถมหมิ่นเหม่ให้ร้าย ร.9

กลายเป็นประเด็นสุดร้อนแรงและดุเดือดอย่างมากในทวิตเตอร์ เมื่อได้มีการแชร์ข้อความของ ผู้ใช้ชื่อบัญชีว่า Vanat Putnark ซึ่งหลายๆเพจได้เปิดเผยว่า เป็นหนึ่งในคนเขียนคอลัมน์ และบทความต่างๆให้กับ The Metter และ ADAY ได้แอบอ้างว่าพูดคุยกับ “ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า” อาจารย์ประจำโครงการปริญญาโท ภาคพิเศษ สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นผู้ที่ชำนาญในเรื่องน้ำ

ซึ่ง นายวณัฐย์ เจ้าของทวิตเตอร์ ได้อ้างว่า ผศ.ดร.สิตางศุ์ พูดถึงระบบเขื่อนไม่ดี และแนะนำให้ทำการทุบเขื่อน พร้อมทั้งยังมีข้อความที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีรายละเอียดว่า

“คุยกับ อ.สิตางศุ์ คือทิ่งมาก ระบบท่อหลักๆ ของกรุงเทพ เก่าเท่าเมืองรัตนโกสินทร์ ไม่เคยมีการวางผัง วางระบบใหม่เลย ไม่นับระบบจัดการน้ำภาพรวมที่เราเน้นเขื่อน เน้นอ่างเก็บน้ำซึ่งหลายประเทศไม่ทำแล้ว ทุบเขื่อนทิ้ง แต่นั่นแหละเขื่อนมันของใคร ใครบิดาแห่งเขื่อน นักอนุรักษณ์คือเงียบเลยน้า”

ต่อมาได้มีคนเข้าไปสืบค้นที่ช่องประวัติ บนทวิตเตอร์ และพบว่า นายวณัฐย์ ได้อ้างว่าเป็นคนเขียนคอลัมน์ หรือบทความต่างๆให้กับ The Metter และ A DAY

ล่าสุดในวันที่ 29 ก.ย.64 ทางด้านของ ผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Sitang Pilailar ซึ่งเป็นเฟสบุ๊คส่วนตัวของ ผศ.ดร.สิตางศุ์ ได้ออกมายืนยันว่า ไม่เคยคุยกับ นายวณัฐย์ ตามที่ได้กล่าวอ้าง พร้อมกับยืนยันว่า เขื่อนทุกเขื่อนล้วนมีประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือช่วยให้จัดการน้ำ บังคับน้ำ จัดสรรน้ำได้ โดยมีรายละเอียดว่า

โดนเอาไปแอบอ้างใน Twitter เรื่องเขื่อน / การทุบเขื่อน
ไม่เคยพูดเรื่องนี้กับสื่อเลยสักครั้ง ไม่ว่าสื่อไหน ยิ่งเรื่องบิดาของเขื่อนอะไรนั่น ยิ่งไปกันใหญ่

ดิฉันเป็นอาจารย์สอนวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ตัวเองไม่เคยสอนนิสิตออกแบบเขื่อนก็จริง เพราะเชี่ยวชาญอีกด้าน คือ environmental hydrodynamics_ ชลศาสตร์สิ่งแวดล้อม ครอบคลุม ทั้งเรื่องการไหล เรื่อง คุณภาพน้ำ เรื่องตะกอน รวมถึงวิศวกรรมการจัดการน้ำ แต่ก็เคยเรียนออกแบบเขื่อนค่ะ

เขื่อนทุกเขื่อน และ โครงสร้างทางชลศาสตร์ทั้งหลาย ล้วนมีประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือช่วยให้จัดการน้ำ บังคับน้ำ จัดสรรน้ำได้ . เพื่ออะไร ก็เพื่อตอบสนองการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเอามาดื่มกิน ใช้เพื่อการเกษตร หรือรักษาระบบนิเวศน์

แน่นอนว่า วันหนึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน บริบทต่างๆ เปลี่ยน ความเห็น ความจำเป็นต่อการก่อสร้างสิ่งเหล่านี้ก็เปลี่ยน ไม่ใช่ว่ามันไม่จำเป็น แต่ข้อจำกัด เงื่อนไขของการที่จะสร้าง หรือ ไม่สร้าง มันเปลี่ยนไป ทั้ง ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่จะสร้าง ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ งบประมาณ ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาทางเลือกในการจัดการน้ำอย่างเข้มข้น บนเงื่อนไขข้อจำกัดที่มี

ส่วนการจะทุบ / ไม่ทุบ ก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณาที่จุดเริ่มต้นของการจะทุบไม่ทุบ คือ .. มันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น สาเหตุของปัญหาคืออะไร เขื่อนมันหมดสภาพ หมดอายุการใช้งาน ตะกอนมันเยอะ กินความจุอ่างจนประสิทธิภาพเหลือน้อย หรือ การมีอยู่ของเขื่อนมันขัดขวางประโยชน์ด้านอื่น .. ซึ่งก็ต้องแก้ไขไปตามเงื่อนไขที่มี การทุบเขื่อนนั้นไม่ได้ง่าย ต้องใช้งบใช้เงิน ต้องประเมินผลกระทบ ทำกระบวนการมีส่วนร่วม ทำนองเดียวกับการทำ EIA ตอนก่อนจะสร้างเขื่อนนั่นแหละค่ะ

การแก้ปัญหาอะไรต่างๆ มันมีทางเลือกเสมอ เปรียบเทียบข้อดี / ข้อเสีย พิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน คิดเยอะๆ เพราะอะไรต่างๆ มันมีความเชื่อมโยงกันหมด น้ำ ป่า สัตว์ คน สิ่งมีชีวิตต่างๆ เชื่อมโยงด้วยสายใยอาหาร มีความเกื้อกูลกัน เกี่ยวข้องกัน เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าระบบนิเวศน์ ดังนั้น การเปลี่ยนไปของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้จะเป็นแค่ มดตัวเล็กๆ ผึ้งตัวน้อยๆ หรือ ต้นไม้ต้นหญ้าสักต้น ล้วนส่งผลที่เราคาดไม่ถึง
ย้ำอีกครั้งว่า … ‘เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว’ ค่ะ

#อาจารย์สาวสวยมหาลัยชื่อดังย่านบางเขนผู้อ่อนต่อโลก
หมายเหตุ ขอบคุณเพื่อน พี่ น้อง ที่เป็นหูเป็นตา แก้ต่างให้ เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรแบบนี้ค่ะ

ต่อมาทางด้านของ นายวณัฐย์ คนเขียนคอลัมน์ หรือบทความต่างๆให้กับ The Metter และ A DAY ก็ได้ออกมายอมรับว่าไม่มีการพูดคุยกันจริง และขอโทษ ดร.สิตางศุ์ ที่นำชื่อไปแอบอ้าง พร้อมกับลบข้อความดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว