จากกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้เผยแพร่เอกสารเรื่องการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ ของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี
โดยมีการระบุถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าตัว ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาในการประชุมลับ ถึงการแสดงพฤติการณ์อันไม่เหมาะสมของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2554 ซึ่งได้กระทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงในสื่อเฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำ มีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะที่นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้โพสต์ชี้แจงด้วยว่า ผมเงียบก็เพราะอยากให้เวลา “ศิลปินแห่งชาติ” คนอื่น ๆ ที่มีมากกว่า 200 ได้เปิดเผยธาตุแท้ของตนเอง และที่เงียบมา 10 วัน ก็เพื่อหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นในกระทรวงวัฒนธรรม กก.วัฒนธรรม ที่เรียกว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิ” มีแห่งหนมาจากไหน ทำไมจู่ ๆ จึงมาสอดไส้เปลี่ยนกฎกระทรวง และที่สำคัญคืออยากรอเห็นลายเซ็นของหนังสือถอดถอนว่าจะเป็นผู้ใด
ล่าสุดในเพจเฟซบุ๊กของสื่อเดอะอีสานเรคคอร์ด ได้โพสต์ข้อความ เรื่องการหนุนล่ารายชื่อ ให้กระทรวงวัฒนธรรมทบทวน เรื่องมติการปลดนายสุชาติอีกครั้ง โดยมีใจความระบุว่า “103 นักคิดนักเขียนทั่วประเทศออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ Change.org จี้ กก.วัฒนธรรมแห่งชาติ ทบทวนมติปลด “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” เตรียมเดินหน้าฟ้องร้อง ล่าสุดมีผู้ลงชื่อเกือบ 7 พันคน ”
พร้อมระบุใจความสำคัญว่า จากมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อ้างเหตุผลการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติระบุว่า นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี มีพฤติกรรมเสื่อมเสียโดยการแสดงความเห็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม มีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านสื่อเฟซบุ๊ก มติที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อสงสัยหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
1. ข้อกล่าวหาหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐานให้ประจักษ์ชัด ไม่สมควรกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานอ้างอิง
2. หากวัฒนธรรมคือสิ่งที่วิวัฒน์ไปตามความเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนทางสังคม บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงควรติดตามทำความเข้าใจสภาพสังคมอย่างเท่าทัน และมีขีดความสามารถในการจำแนกแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมใดเป็นการปิดหูปิดตาประจบสอพลอ พฤติกรรมใดเป็นข้อเสนอโดยปรารถนาให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเฉกเช่นปัจจุบัน
3. หากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงพร้อมด้วยสติปัญญาและดุลพินิจ สมควรเข้าใจได้ไม่ยากว่าการดึงสถาบันมาใช้เป็นข้อกล่าวหานั้น นอกจากจะรังแต่สร้างความมัวหมองให้แก่สถาบันแล้ว ในขณะเดียวกันยิ่งเป็นแรงเสริมให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน
4. หากใช้วิธีพิจารณาแบบเหมารวมรวบรัดเฉกเช่นพฤติกรรมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ การใช้กฎกระทรวงข้อ 10 ที่เพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2563 เป็นเครื่องมือยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ก็อาจตีความวินิจฉัยได้เช่นกันว่า นี่เป็นการแก้ไขกฎกระทรวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับบุคคลในสถานการณ์แตกต่างทางความคิด
ทั้งนี้ ยังเสนอข้อเรียกร้องด้วยการขอให้ทบทวนและยกเลิกมติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการคนใดอยู่ในเสียงข้างน้อยสมควรแสดงความกล้าหาญบอกกล่าวจุดยืนของตนต่อสาธารณะ เพื่อได้รับประดับเกียรติจากประชาชน” “หากคณะกรรมการคนใดบังเกิดความละอาย สามารถสร้างวัฒนธรรมดีงามใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยการเอ่ยขอโทษอย่างจริงจัง และลาออกจากคณะกรรมการโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างบรรทัดฐานการทำงานให้คนรุ่นถัดไปแสดงความนับถือได้” และในท่อนท้าย แถลงการณ์ยังระบุว่า ทั้งนี้อาจจะนำไปสู้ขั้นตอนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำรงหลักการความถูกต้องและชอบธรรมอีกหลายคดีความ
อย่างไรก็ตามทางเพจเฟซบุ๊กของสื่อเดอะอีสานเรคคอร์ด ได้เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อเพื่อให้มีการทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งในเอกสารชี้แจงของกระทรวงวัฒนธรรมได้ระบุชัดถึงความไม่เหมาะสมของนายสุชาติ และในโลกโซเชียลได้มีหลักฐานในการโพสต์พาดพิงถึงสถาบันฯอย่างชัดเจน ทั้งนี้เดอะอีสานเรคคอร์ด เคยมีประเด็นถูกสั่งห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับกรณีข่าวสื่อที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ แต่งานนี้กลับมาเป็นสื่อหลักที่สนับสนุนล่ารายชื่อช่วยนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ทำให้สังคมเกิดคำถามว่า สื่อไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว และอยากรู้ว่า ทำไมถึงต้องยื่นทบทวนในเมื่อนายสุชาติ ทำแบบนั้นจริง