ขุนคลังยันปี 64 ลงทุนรัฐตัวช่วยหลัก!?! ใช้งบฯ 2.1 แสนล.บาทสู้โควิดเยียวยาทุกกลุ่ม ขณะธนาคารโลกมองศ.ไทยฟื้น จีดีพีโต 4%

1707

วันที่ 22 ม.ค.2564 ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เผยแพร่รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกฉบับล่าสุด “การฟื้นฟูรายได้และการจ้างงาน:Restoring Incomes; Recovering Jobs)” ระบุว่า เศรษฐกิจของไทยในปี 64 จะกลับมาเติบโตได้ในอัตรา 4% หลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจปี 63 หดตัว 6.5%

เวิลด์แบงก์ มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ครั้งที่สอง และคาดว่าในปี 65 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระดับเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนไหวต่อความเสี่ยงในด้านลบ ซึ่งอาจมาจากการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำของโรค ส่งผลให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมภายในประเทศซบเซาต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนแอกว่าคาด อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงันทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ รวมทั้งระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การดูแลเศรษฐกิจไทยปี 2564 หลังจากที่มีการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลจะเป็นตัวหลักขับเคลื่อน ทั้งการลงทุนและการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นได้รับผลกระทบหมด ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่แน่ใจว่าจะถึง 5 ล้านคน ตามประมาณการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือไม่ ขณะที่ส่งออกปีนี้ ล่าสุดทางสภาผู้ส่งออกก็ประเมินว่าจะโต 3.6%

 รัฐบาลประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งหากการระบาดคลี่คลายลงใน 2 เดือน ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีโอกาสขยายตัว 3.5% ต่อปี จากที่กระทรวงการคลังประเมินการขยายตัวปีนี้ไว้ที่ 3.5-4.5% ต่อปี ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอาจจะขยายตัวเพียง 3.2% ซึ่งรวมผลกระทบการระบาดระลอกใหม่ไว้แล้ว โดยคลังจะมีการปรับประมาณการใหม่ในวันที่ 28 ม.ค.นี้

รมว.คลังกล่าวว่า “ปีนี้จีดีพีต้องมาจากภาครัฐแน่นอน คือการลงทุนภาครัฐที่ต้องทำต่อเนื่อง หยุดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านพลังงาน คมนาคม เป็นต้น ยังเป็นตัวที่ขับเคลื่อนจีดีพี และการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก็ยังต้องทำอยู่ ถ้าไม่ยืดเยื้อ การระบาดจบได้ใน 2 เดือน การบินภายในประเทศก็จะเริ่มเพิ่มขึ้น โครงการเราเที่ยวด้วยกันก็จะกลับมาได้ แต่ตอนนี้คนไม่เชื่อมั่น เพราะว่าจะไปเที่ยวจังหวัดนี้ก็อาจถูกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ก็ต้องขอความร่วมมือ ซึ่งหากโควิดจบภายใน 2 เดือน จีดีพีโตขั้นต่ำ 3.5% ก็น่าจะยังได้อยู่ แต่ก็ต้องดูปัจจัยจากข้างนอกด้วยว่าดีขึ้นแค่ไหน”

นายอาคมกล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่มีความแตกต่างกับระลอกแรก รอบนี้ ได้เห็นความสำเร็จจากการพัฒนาวัคซีน และประเทศไทยก็ได้จองวัคซีนไว้แล้ว แถมยังมีโรงงานผลิตวัคซีนที่ร่วมมือกับแอสตร้าเซเนก้า ทำให้มีความมั่นใจ เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้เห็นว่า การปิดประเทศเหมือนการระบาดครั้งแรกคงไม่จำเป็น เพราะช่วงระยะเวลาที่วัคซีนจะมาคือช่วงเดือน ก.พ. 64

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ต้องต่อเนื่องมาจากปี 2563 เพราะปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถคุมสถานการณ์โควิดได้ ก็จะเห็นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ดีมานด์จากข้างนอกยังไม่มา รัฐบาลจึงมาเน้นเรื่องการทำอย่างไรให้เศรษฐกิจภายในประเทศเดินได้ เครื่องยนต์จากต่างประเทศคือ “การส่งออก” ก็ติดลบน้อยลงเรื่อย ๆ การใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ขยับขึ้นมา ที่เหลือคือภาคท่องเที่ยว ที่จะต้องเร่งเข้ามาดูแล

ปี 64 นี้จึงต้องเร่งปูพรมมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง ได้แก่

ระยะสั้น-1)เดินหน้าจ่ายเยียวยา “เราชนะ” 3,500 บาท 2 เดือนกว่า 30 ล้านคน 

เงื่อนไขโครงการเราชนะ รัฐบาลจะแจกเงิน 3,500 บาท จำนวน 2 เดือน มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 31.1 ล้านคน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม -12 กุมภาพันธ์ 64มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์โครงการเราชนะ ประมาณ 31.1 ล้านคน ใช้กรอบวงเงินประมาณ 2.1 แสนล้านบาท

คุณสมบัติ

  1. ผู้มีสัญชาติไทย 18 ปีขึ้นไป
  2. ไม่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33
  3. ไม่เป็นข้าราชการ
  4. ไม่เป็นข้าราชการการเมือง
  5. ไม่รับบำนาญหรือเบี้ยหวัดจากราชการ
  6. ไม่มีรายได้เกิน 3 แสนบาท
  7. เงินฝากทุกบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท

ใช้แพลตฟอร์มมือถือทั้งหมด เพื่อรับโอนเงิจากรัฐบาล ลดภาระการต่อคิว

2)เร่งหารือ ธปท. แก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ปลดล็อกแบงก์ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายใหญ่ 

3)เร่งแผนช่วยธุรกิจพื้นที่สีแดงของการระบาดโควิดระลอกใหม่  

4) เร่งช่วยกลุ่มท่องเที่ยวทั้งโรงแรม-ร้านอาหาร-สายการบิน หลังซมพิษโควิดข้ามปี ลดปัญหาปิดกิจการ การว่างงาน

ระยะกลาง-1) ส่งเสริม 3 อุตสาหกรรมหลักได้แก่ อุตฯดิจิทัล, อุตฯสีเขียวส่งเสริมสิ่งแวดล้อม, อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ -2) การปรับโครงสร้างภาษี เพื่อเตรียมการเกี่ยวกับนโยบายรายได้ของประเทศซึ่งต้องให้มั่นคงและยั่งยืนในอนาคต