จีนเอาจริง!?จี้ธุรกิจไต้หวันเลือกข้าง ลงดาบ ‘ฟาร์ อีสเทิร์น กรุ๊ป’ฐานหนุนแยกเอกราช

1403

บริษัทในเครือ Far Eastern Group ในเซี่ยงไฮ้และสี่จังหวัดถูกลงโทษในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไปจนถึงพนักงานและกฎความปลอดภัยจากอัคคีภัย กลุ่มบริษัทนี้เป็นผู้บริจาคการเลือกตั้งรายใหญ่ ให้ทุนสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงของนายกเทศมนตรี ให้เป็นหนึ่งในสามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไต้หวันในบัญชีดำ ‘ผู้แบ่งแยกดินแดน’ ของปักกิ่ง

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พ.ย.2564 รัฐบาลจีนระบุว่า บริษัทไต้หวันที่ดำเนินงานในประเทศจีนจำเป็นต้องแยกตนเอง ออกจากกลุ่มที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช หลังจากจีนลงโทษบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไต้หวันอย่างหนักฐานละเมิดกฎเกณฑ์ทางธุรกิจ

ทั้งนี้ จีนได้กดดันให้ไต้หวันยอมรับการปกครองของจีน โดยได้แถลงจุดยืนเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ว่า จะลงโทษกับผู้ที่สนับสนุนการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการของไต้หวัน รวมถึงบริษัทที่กระทำความผิดทางอาญา

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานเมื่อวานนี้ว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศจีนได้ดำเนินการลงโทษบริษัทฟาร์ อีสเทิร์น กรุ๊ปของไต้หวันซึ่งมีผลประโยชน์จากธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่โรงแรมไปจนถึงบริษัทเภสัชกรรม เนื่องจากก่อปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ด้านภาษี ไปจนถึงความปลอดภัยด้านอัคคีภัย ขณะที่การสอบสวนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนระบุว่า จีนต้อนรับบริษัทไต้หวัน แต่จะไม่อนุญาตให้ผู้ที่สนับสนุนเอกราชของไต้หวันเข้ามาหาเงินในจีน

“นักธุรกิจและบริษัทส่วนใหญ่ของไต้หวันต้องแยกแยะสิ่งถูกออกจากสิ่งผิด ยืนหยัด แยกตัวออกจากขบวนการแบ่งแยกเพื่อเอกราชไต้หวันอย่างชัดแจ้ง และดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อธำรงไว้ ซึ่งการพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบอย่างสันติ”

สำนักข่าว uschinapress.com รายงานว่า บริษัท ฟาร์อีสเทิร์น นิว เซ็นจูรี่ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในไต้หวัน กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า บริษัทกำลังดำเนินการ จ่ายค่าปรับให้หน่วยงานกำกับดูแลของแผ่นดินใหญ่ และจะป้องกันไม่ให้ข้อผิดพลาดที่ทำให้ถูกปรับเกิดขึ้นอีก หลังจากเสียค่าปรับประมาณ 36.5 ล้านหยวน (5.7 ล้านดอลลาร์) ในแผ่นดินใหญ่สำหรับการละเมิดสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองและเรื่องอื่นๆ 

บริษัท ออกแถลงการณ์ระบุว่า ได้แก้ไขธุรกิจที่มีข้อบกพร่องที่เกี่ยวข้องประมาณ 98% และวางแผนที่จะแก้ไขส่วนที่เหลืออีก 2 เปอร์เซ็นต์ก่อนสิ้นปีนี้

จู เฟิงเหลียน โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของสภาแห่งรัฐ (Zhu Fenglian, the spokesperson for the Taiwan Affairs Office) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการด้านกฎระเบียบกับบริษัทต่างๆ ในวันจันทร์ว่า ผู้สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน องค์กรในเครือ และผู้บริจาคทางการเงินต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย

ตามสถิติที่โพสต์ทางออนไลน์โดยเจ้าหน้าที่บนเกาะ บริษัทได้บริจาคเงิน 58 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (2.09 ล้านดอลลาร์) ให้กับ DPP พรรครัฐบาลของปธน.ไช่ อิงเหวิน  ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติระดับภูมิภาคปี 2020 ทำให้บริษัทเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของ DPP

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง จีน-ไต้หวันดำเนินมาอย่างช้านาน แม้ว่าความคืบหน้าด้านทางการเมืองจะล่าช้า แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและระบบเศรษฐกิจของจีนและไต้หวันเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทของไต้หวันหลายแห่งเข้าไปลงทุนในจีนแล้วราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) และมีชาวไต้หวันมากถึง 1 ล้านคน อาศัยอยู่ในจีนในปัจจุบัน หลายคนเปิดโรงงานของไต้หวันที่นั่น

ชาวไต้หวันบางส่วนกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะที่หลายคนเชื่อว่า ความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น จะทำให้โอกาสที่จีนจะใช้กำลังทหารลดน้อยลง เพราะจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของจีน

ข้อตกลงทางการค้าที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิด “ขบวนการดอกทานตะวัน” (Sunflower Movement) ในปี 2014 ซึ่งนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวบุกยึดรัฐสภาไต้หวัน เพื่อประท้วงต่อต้านสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า อิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนต่อไต้หวัน

DPP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของไต้หวัน สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการของไต้หวัน ขณะที่พรรค KMT สนับสนุนการรวมชาติ