“บิ๊กตู่” ฟันจริงเฟคนิวส์! บัวแก้วร่วม 4 บิ๊กองค์กรตร.ลุยกระชับ รอศาลไม่ทันการ

4641

หลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายบรรสาน บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางแก้ปัญหาข่าวปลอมที่สร้างความบิดเบือน หรือ fake news

จึงมีการประชุมร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กระทรวงการต่างประเทศ เข้าหารือเมื่อวานนี้ เพื่อวางแนวปฎิบัติแก้ปัญหา fake news ให้กระชับและรวดเร็วกว่าเดิม เพราะในปัจจุบันแม้รัฐจะมีอำนาจในการลบข้อความบิดเบือนต่างๆ ในโลกออนไลน์ได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการศาล ที่มีขั้นตอนมาก และ อาจไม่ทันต่อสถานการณ์

เบื้องต้นที่ประชุมจึงเน้นย้ำให้ใช้กฎหมายปัจจุบัน โดยเฉพาะข้อกำหนดเข้าไปดำเนินการก่อน หากไม่ทันการติดขัดในส่วนใด เช่น กฎ ระเบียบปฎิบัติ งบประมาณ หรือ บุคลากร ให้แจ้งและจัดทำรายละเอียดยกร่างเสนอต่อที่ประชุมในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีตามลำดับต่อไป

และเมื่อวันที่ 20 ม.ค.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อม นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เข้ายื่นแจ้งความเอาผิดมาตรา 112 และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กรณีไลฟ์สดพาดพิงสถานบันโจมตีวัคซีนพระราชทาน เพื่อหวังผลทางการเมือง เป็นการกล่าวหาและมีข้อมูลอันเป็นเท็จนั้น และ

ดีอีเอสแจ้งความเอาผิด “ธนาธร” ไลฟ์สด บิดเบือนวัคซีนโควิด-19 พาดพิงสถาบันฯ ผิด ม.112-พ.ร.บ.คอมพ์

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่นายกฯสั่งการเฉพาะกิจ เพื่อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาและติดตามกรณีที่มีบุคคล กระบวนการ สร้างและเผยแพร่ข่าวที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง การใส่ร้ายป้ายสี จาบจ้วงหมิ่นสถาบัน รวมถึงการบิดเบือนข้อมูล เพื่อดูว่ารัฐบาลจะมีการแนวทางดำเนินการทางกฎหมายอย่างไร ทั้งการเคลื่อนไหวในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งพบว่าช่วงที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวหลายกรณี โดยนายกฯสั่งการให้ดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด และส่งข้อมูลให้นายกฯอย่างต่อเนื่อง และเร่งติดตามคดีที่มีความล่าช้า

อย่างไรก็ตาม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ออกมาแถลงโต้ ที่สำนักงานคณะก้าวหน้า อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์
นายธนาธรกล่าวว่า วันนี้เรามีดีลวัคซีนที่ทำกับบริษัทแอสตราเซเนกาอย่างเป็นทางการขนาดใหญ่ดีลเดียวเท่านั้น และที่สำคัญคือมีบริษัทเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อเป็นเอกชนก็ย่อมเป็นองค์กรที่แสวงหากำไร แล้วประชาชนจะไม่ควรตรวจสอบเลยหรือว่าดีลที่เกิดขึ้นนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะเงินสนับสนุนนี้มาจากภาษีประชาชนคนไทยทุกคน สำหรับ 3 ดีลใหญ่ๆ ที่เหมือนเป็นก้อนเดียวกันนั่นคือ 1.ระหว่างบริษัทแอสตราเซเนกากับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ 2.ระหว่างแอสตราเซเนกากับรัฐบาล และ 3.ระหว่างรัฐบาลกับสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งนี่คือ 3 ก้อนใหญ่ๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระต่อกัน แต่คือดีลเดียวกันที่มีการพูดคุยเจรจาร่วมกัน มีความเกี่ยวโยงกัน และที่สำคัญคือวัคซีนที่เรากำลังพูดถึงนี้มาจากภาษีประชาชน

“ยืนยันว่าเราทำงานตรวจสอบการใช้เงินที่มาจากภาษีประชาชนกับทุกบริษัทเอกชน บทบาทของผมเอง ของพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงอดีตเพื่อนร่วมงาน คือ ส.ส.พรรคก้าวไกล เราทำเรื่องนี้ เราพูดเรื่องการเอื้อประโยชน์บริษัทเอกชนที่ชัดเจนมาก เราทำมาตลอด และกรณีนี้เราเชื่อว่า 3 สัญญาก้อนใหญ่ๆ ที่ได้พูดไปนั้น ไม่ได้เจรจาอย่างเป็นเอกเทศ เพราะเอกสารที่เรามีชี้ไปทางนั้นว่าไม่มีการคัดเลือก ไม่มีการเปรียบเทียบ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องตั้งคำถาม” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรกล่าวอีกว่า เมื่อเราตั้งคำถาม แต่สิ่งที่ได้รับก็คือการถูกรัฐบาลฟ้องเอาผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผิด ป.อาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอด และถ้าย้อนไปดูจะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์พยายามบิดเบือนประเด็นทุกครั้งเมื่อมีคนวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาด โดยยกเอาสถาบันกษัตริย์มากลบเกลื่อนความไม่มีประสิทธิภาพของตนเอง อ้างความจงรักภักดี และเพราะเหตุนี้หรือไม่ คุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม จึงทำให้มีคนออกมาตั้งคำถามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในกรณีนี้ก็ชัดเจนว่าคนที่ดึงสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดหาวัคซีนไม่ใช่ตนเอง แต่เป็น พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

ตอนหนึ่งนายธนาธรได้เปิดคลิปการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันเป็นประธานการเซ็นจองวัคซีนโควิด โดยท่อนหนึ่งกล่าวว่า ในหลวงพระราชทานบริษัทในพระปรมาภิไธยผลิตแจกจ่าย จากนั้นนายธนาธรกล่าวต่อว่า คลิปดังกล่าวเป็นการแถลงข่าวเมื่อกลางเดือน พ.ย. ซึ่งคำถามคือการตั้งคำถามต่อการใช้งบประมาณของรัฐบาล แต่กลับถูกยัดเยียดคดีนั้นเป็นธรรมหรือไม่ ใครที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจะถูกใช้คดีปิดปากเรื่อยๆ อย่างนี้หรือไม่ เราในฐานะคนไทยซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับประเทศนี้ ต้องหาทางออกร่วมกัน ว่าตกลงการวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เป็นการไม่จงรักภักดี คือการเป็นศัตรูกับสถาบันหรืออย่างไร คิดว่าสังคมไทยทั้งสังคมต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้