ลือกระหึ่ม-ซีพีควบรวมโลตัสไม่ผูกขาด?!? บอร์ดกขค.แบะท่าควบรวมได้แบบมีเงื่อนไข ทำโชว์ห่วยไทยใกล้สูญพันธ์ุ

2644

การเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ของเครือ ซี.พี. ด้วยเม็ดเงิน 3.38 แสนล้านบาท สร้างแรงกระเพื่อมในธุรกิจค้าปลีกอย่างมาก  ด้วยเหตุที่ขณะนี้ไทยมีบทบัญญัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการรวมธุรกิจตามมาตรา 51 จึงทำให้ดีลนี้ไม่ง่าย ในระหว่างที่คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบ 2 ชุดและคณะกรรมาธิการพาณิชย์ฯอยู่ระหว่างการศึกษา กขค.ได้ประกาศยกเลิกหลักเกณฑ์เดิม พ.ศ.2560 ใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยต่างหวั่นวิตก รัฐถือหางเอื้อรายใหญ่หรือไม่ รอลุ้นวันตัดสินกลางตุลาคมที่จะถึงนี้ว่าจะยอมแพ้หรือสู้ต่อไป

ความกังวลใจของผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี ซัพพลายเออร์ ที่เดิมก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดในระบบซัพพลายเชนของรายใหญ่อยู่แล้ว หากมีการผูกขาดก็ยิ่ง ทำมาหากินและแข่งขันธุรกิจยากขึ้นไปอีกเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง จึงหวังว่า คณะกรรมการการแข่งขันการค้าจะเป็นด่านโอกาสสร้างความเป็นธรรมแก่บริษัทคนเล็กคนน้อยของไทยได้ จึงมีการยื่นคัดค้านขอให้พิจารณา การมีอำนาจผูกขาดตลาดของกลุ่มซีพีที่เป็นรายใหญ่จะครอบงำธุรกิจค้าปลีกทั้งระบบ ตามกรอบเวลาจะได้คำตอบภายในตุลาคมนี้ กลับเกิดกรณีซุ่มเปลี่ยนเกณฑ์ฯพิจาณา ทางกขค.แจงว่าไม่มีผล แต่สาธารณชนมองว่าไม่มีผลแล้วแก้ทำไม? ทำผู้ค่ารายย่อยหวั่นวิตก เกรงถ้าเคสซีพีผ่าน โอกาสรายใหญ่ไล่ควบรายย่อยอาจทำเอสเอ็มอีตายสูญพันธ์ในที่สุด

ตามกฎหมายมาตรา 51 กำหนดไว้ 2 กรณี คือ ผู้ประกอบการที่มีการควบรวมธุรกิจตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้อง “แจ้ง” ให้ กขค.ทราบถึงผลการรวมธุรกิจที่มี หากประเมินแล้วผลจากการรวมธุรกิจนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการผูกขาด และเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เพราะหากไม่แจ้งแล้วคณะกรรมการตรวจสอบพบภายหลังว่าการควบรวมนั้นส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ราคาสินค้า หรืออาจทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด ก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมายมาตรา 80 ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับอีกในอัตราไม่เกิน 10,000 บาทต่อวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือกรณีที่ 2 หากควบรวมแล้วมีผลทำให้จำกัดการแข่งขัน หรือมีอำนาจเหนือตลาด จะต้องมา “ขออนุญาต”กับ กขค. หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 81 ปรับทางปกครองไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าดีลการควบรวมนั้น

ผู้ประกอบการรายย่อย-เอสเอ็มอีหวั่นล้มหายสูญพันธ์ุ

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะอนุกรรมการฯ กำลังเร่งเดินสายเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเชิญภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีก โชห่วยและเอสเอ็มอีมารับฟังความเห็นประเด็นผลกระทบจากการควบรวมกิจการ

รวมถึงความกังวลของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ต่อตลาดการค้ากรณีการควบรวม การแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดค้าปลีก และจากนั้นจะรวบรวมความเห็นมาสรุปเสนอกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรให้ควบรวมกิจการ ซึ่งไม่มีประเทศใดที่ให้มีผู้ทำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่การผลิตสินค้า การค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรด ซึ่งปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายสินค้าจากร้านสะดวกซื้อส่งตรงถึงมือผู้บริโภคแล้ว โดยส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งทำให้ภาคการค้าของไทยอยู่ในการควบคุมของผู้ประกอบการรายใหญ่

และล่าสุดที่ กขค.ประกาศหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ ทำให้นายสมชายมองว่าน่าจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ดีล ซี.พี.-เทสโก้ กขค.คาดจบ ต.ค.นี้

ศ.ดร.สกนธ์ ประธานคณะกรรมการการแข่งขันการค้า (กขค.)กล่าวว่า การควบรวมของธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม ซี.พี.และเทสโก้ ซึ่งเป็นหนึ่งเคสที่ยื่นขออนุญาตตามมาตรา 51 ถือเป็นเคสควบรวมขนาดใหญ่ครั้งแรกในบอร์ดแข่งขันชุดนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของการบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันฯฉบับปี 2560 และเป็นภารกิจที่ท้าทายการทำงาน ก่อนที่กรรมการ 3 ใน 7 คนของบอร์ดชุดนี้จะหมดวาระในเดือนธันวาคมนี้ จะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2563 ตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ในระยะเวลาพิจารณา 90 วัน จนถึงขณะนี้เหลือหากเดือนตุลาคมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ก็จะสามารถบวกเพิ่มไปได้อีกไม่เกิน 15 วันก็จะสรุปได้

“เรื่องนี้เป็นเคสแรก เราไม่ได้ห่วง เพราะได้วางแนวทางหลักเกณฑ์การทำงานโดยอาศัยโมเดลของทั้งในและต่างประเทศ และต้องศึกษาเชิงลึกเพื่อเปรียบเทียบให้มีความชัดเจน สามารถอธิบายตอบโจทย์ได้หมด โดยความคืบหน้าในการศึกษาได้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ขึ้นมา หลังจากที่คณะอนุกรรมการชุดแรกเก็บข้อมูลเบื้องต้นจบไปแล้ว ซึ่งอาศัยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาช่วยให้แนวคิดแนวทางเรื่องขอบเขตตลาดคืออะไร ข้อมูลอยู่ที่ไหนอย่างไร และให้ข้อชี้แนะเบื้องต้นว่าต้องดูอะไรบ้าง

ส่วนคณะอนุกรรมการช่วยพิจารณาชุดที่ 2 นี้จะมาจากทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐ และจากสถาบันการศึกษา เอกชนที่เกี่ยวข้องในเซ็กเตอร์ และคนที่รู้เรื่องกฎหมายแข่งขัน เช่น สสว.ก็มี คณะนี้มี 6 คน รวมฝ่ายเลขาฯ และยังมีที่ปรึกษาด้วย มอบหมายให้ศึกษาและรายงานมาที่บอร์ดเป็นระยะ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะกัน”

กขค.ตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง 2 ชุด-กมธ.พาณิชย์ก็ร่วมศึกษา 

คณะอนุฯชุดนี้จะต้องศึกษาวิเคราะห์ถึงโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก เช่นว่า ค้าปลีกในครั้งนี้หมายความรวมถึงประเภทค้าปลีกใดบ้าง รวมโมเดิร์นเทรด หรือแยกเซ็กเมนต์เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอนวีเนี่ยนสโตร์ เป็นต้น และต้องพิจารณาว่าโครงสร้างธุรกิจก่อนและหลังจากการควบรวมครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผลจากการควบรวมครั้งนี้จะกระทบต่อระดับมหภาคและจุลภาคอย่างไร พร้อมทั้งสรุปความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า พิจารณาเพื่อออกประกาศคำสั่ง”

ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีต้นแบบเรื่องการควบรวมธุรกิจค้าปลีกเช่นนี้มาก่อนซึ่งอาจต้องอิงโมเดลต่างประเทศ เช่น คณะกรรมการจะไม่เพียงแค่ตัดสินว่าให้ หรือไม่ให้ควบรวม แต่อาจจะพิจารณาให้ “ควบรวมได้แต่เป็นการรวมแบบมีเงื่อนไข” เช่น ผู้ที่จะทำการรวมธุรกิจต้อง “ตัดขายธุรกิจบางส่วน” ให้คู่แข่งเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด หรืออาจมีเงื่อนไขมากกว่านี้ หากผู้ประกอบการยอมรับเงื่อนไขได้ก็สามารถควบรวมได้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในระหว่างการพิจารณาของเรกูเลเตอร์กำลังเข้มข้น ก็มี “คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และทรัพย์สินทางปัญญา” (กมธ.) ซึ่งมีนายอันวาร์ สาและ เป็นประธาน ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาศึกษาคู่ขนานกับเรกูเลเตอร์ โดยกระบวนการศึกษาของ กมธ.จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูล ทั้งตัวกรรมการแข่งขัน บริษัทที่จะควบรวม และนักวิชาการต่าง ๆ เข้าไปให้ข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกันแล้วหลายครั้ง ได้จัดการสัมนาเรื่อง “แนวโน้มการผูกขาดทางการค้า:ผลกระทบกับผู้ค้ารายย่อยและผู้ค้าปลีก ทั้ง 4 ภาค

จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอผลสรุปต่อรัฐบาลเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ ส่งกลับมาให้ กขค.แม้ว่าในความเป็นจริงจะถือเป็นเรื่องอิสระที่ กมธ.จะหยิบประเด็นทางเศรษฐกิจสำคัญ ๆ อะไรก็ได้ขึ้นมาศึกษา แต่ก็น่าจับตามองว่าหากบทสรุปผลศึกษาของ กมธ.ไม่สอดคล้องกับบทสรุป กขค.แล้วรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร