ถาวรลุยพัฒนาสนามบินภูธร 29 แห่งทั่วประเทศ!?! สั่งทย.ทำแผนเพิ่มรายได้ภาคพื้นดินทุกตารางนิ้ว เมินทอท.ขอบริหาร 3 แห่งแลกงบฯหนุน

1676

โควิดพ่นพิษอุตสาหกรรมการบินของไทย และทั่วโลก เพื่อรับมือกับกับสถานการณ์ที่คนเดินทางลด รายได้หดหายรมว.ถาวรฯจึงเดินหน้าลุยหาช่องทางเพิ่มรายได้ เร่งพัฒนาสนามบินภูธร 29 แห่งทั่วประเทศ ถก 4 หน่วยงานการบิน และสั่งกรมท่าอากาศยานทำแผน (Action Plan) เพิ่มรายได้จากภาคพิ้นดิน เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การเช่าพื้นทื่ทำคาร์โก้-โรงซ่อมอากาศยาน เพื่อชดเชยช่วงโควิดระบาด ที่ทำความถี่เที่ยวบินต่ำสุดเหลือแค่ 10% กระทบรายได้  เมินทอท.ขอบริหาร 3 สนามบินหลักแลกงบฯหนุน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการบูรณาการและการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการคมนาคมทางอากาศ โดยมี ผู้แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าร่วมว่า การให้บริการที่ safety & Security เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นการบริการเพื่ออำนวยความสะดวก และคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้ใช้บริการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับลักษณะใดลักษณะหนึ่งร่วมกัน เพื่อบังคับใช้ให้เกิดการประสานงานอย่างเป็นระบบ ได้แก่

  1. สะท้อนปัญหาและความต้องการของหน่วยงานด้านการคมนาคมทางอากาศที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ทั้งการขาดการบูรณาการแผนระยะยาวของระดับหน่วยงาน และการทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น การส่งผลกระทบต่อการปรับปรุง พัฒนาท่าอากาศยาน กรณีการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ และกรณีการขยายหรือปรับเปลี่ยนทางกายภาพของท่าอากาศยาน ทำให้ส่งผลกระทบโดยรวมต่อแผนการดำเนินงานการพัฒนาท่าอากาศยานของประเทศ

รวมทั้งในระดับนโยบาย การจัดทำแผนแม่บทท่าอากาศยานในภาพรวมเพื่อรองรับความต้องการของแต่ละท่าอากาศยาน ส่วนระดับปฏิบัติการ ทุกท่าอากาศยานควรทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในท่าอากาศยาน

  1. แนวทางการบูรณาการและประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการคมนาคมทางอากาศ กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการบูรณาการการทำงานและการประสานงานระหว่างหน่วยงานคมนาคมทางอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เช่น การเสนอให้มีข้อกำหนดเพื่อบังคับใช้ระหว่างหน่วยงาน การอนุญาตปลูกสร้างภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ โดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงท่าอากาศยาน เพื่อป้องกันการเกิดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการบิน เช่น การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่รอบสนามบิน การจัดการนกและสัตว์อันตรายรอบสนามบิน เป็นต้น

นายถาวรกล่าวถึงสถานการณ์การบินว่า หลังจากเกิดโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินในภาพรวมมีปริมาณลดลงต่ำสุดเหลือ 10% ทำให้หน่วยงานที่ให้บริการทางอากาศ ทั้ง บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หรือบวท.ที่ให้บริการจัดจราจรทางอากาศ หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ที่ให้บริการสนามบิน ต่างได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่ช่วงปลายปีที่แล้วสถานการณ์เริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่เมื่อเกิดโควิดรอบสองการบินก็ลดลงไปอีก ซึ่งต้องมีมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม

เดิมเคยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศจะฟื้นตัวเป็นปกติในปี 2565-2566 ส่วนการบินระหว่างประเทศจะฟื้นตัวในปี 2566-2567 แต่เมื่อเกิดโควิดรอบที่ 2 คงจะต้องมีการประเมินจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาต้า ใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจจะทำให้การฟื้นตัวของด้านการบินเร็วขึ้น คือวัคซีนป้องกันโควิดใช้ได้ผลเพียงใด 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานจะมีการหารายได้เพิ่มจากส่วนอื่นๆ ด้วย โดย ทย.เพิ่มรายได้จากบริการภาคพื้นดิน เช่น บริการคาร์โก้ หรือใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงธุรกิจ ทั้งในอาคารผู้โดยสารที่มีการขยายเพิ่มเติม และพื้นที่โรงซ่อมเครื่องบิน (แฮงก้า) สนามบินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งได้มอบหมายให้ นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เร่งหาแนวทางใช้ประโยชน์พื้นที่ทุกตารางนิ้วของสนามบิน 

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท.กล่าวว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศของประเทศ ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีปริมาณรวมเกือบ 3,000 เที่ยวบิน/วัน ซึ่งหลังจากโควิดระลอกแรกมีการหยุดบิน จากนั้นช่วงปลายปีเริ่มคลี่คลาย ปริมาณจราจรค่อยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,300 เที่ยวบิน /วัน แต่เมื่อมีโควิดระลอก 2 ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณจราจรทางอากาศลดลงอีกครั้ง โดยต่ำสุดช่วงต้นเดือน ม.ค. 2564 ลดลงเหลือ 400 เที่ยวบิน/วัน ขณะที่ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 700 เที่ยวบิน/วันแล้ว

สำหรับในปี 2564 ต้องรอมาตรการ ศบค.ก่อน ซึ่งคาดว่าปริมาณจราจรทางอากาศจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 1,300 เที่ยวบิน/วันได้ ซึ่งจะเน้นการบินเส้นทางภายในประเทศ มีสัดส่วนประมาณ 45% ส่วนระหว่างประเทศสัดส่วนปริมาณการบินประมาณ 55% จะต้องดูสถานการณ์โควิด วัคซีน และมาตรการผ่อนคลายในแต่ละประเทศร่วมด้วย

แนวทางการพัฒนาเชิงพาณิชย์ 29 สนามบินนั้น นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ ทย. ศึกษาแนวทางในการเพิ่มรายได้สนามบิน 29 แห่ง ของ ทย. โดยเร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร (Terminal) และพื้นที่ว่างเปล่าภายในสนามบิน เนื่องจากปัจจุบันมีรายได้เชิงพาณิชย์เพียงปีละ 100 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ทย. จะศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ รูปแบบการลงทุน และธุรกิจที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ของสนามบิน คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน และจะนำร่องสนามบินกระบี่ก่อน รวมทั้ง อุบลราชธานี และอุดรธานี สำหรับธุรกิจที่เป็นไปได้ เช่น โรงแรม , โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ , หอประชุม เป็นต้น

นายถาวร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สั่งให้ ทย. ไปประสานกับการท่องเที่ยว หน่วยงานท้องถิ่น สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวต้อง เพื่อสร้างกิจกรรมและดึงดูดให้ผู้โดยสารมาใช้งานสนามบินมากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้ท่าอากาศยานที่มีผลประกอบการติดลบที่มีกว่า 10 แห่ง

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ ทย. ยกระดับสนามบินให้ เป็นสมาร์ตแอร์พอร์ต ที่บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบเช็กอินด้วยตัวเอง ออกบัตรโดยสารอัตโนมัติ รวมถึงไปการตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ และใช้ระบบสแกนความปลอดภัยด้วยเลเซอร์ ซึ่งผู้โดยสารไม่ต้องถอดรองเท้า เข็มขัดออก ซึ่งท่าอากาศยานกระบี่เป็นต้นแบบสมาร์ตแอร์พอร์ต เพราะเป็นสนามบินที่ได้รับการประเมินจาก IATA กว่า 2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 4 สูงที่สุด และใกล้เคียงกับสนามบินสุวรณภูมิและสนามบินดอนเมือง

พร้อมกันนี้ มอบหมายให้ ทย. ไปจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (Action) ในปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงสรุปการขอจัดสรรงบประมาณปีงบประมาณ 2564 ให้แล้วเสร็จตามกำหนด พร้อมจัดสรรลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ

ในส่วนของการพัฒนาท่าอากาศยานให้เร่งหาข้อสรุปการก่อสร้างท่าอากาศยานนครปฐมและท่าอากาศยานพัทลุงว่า จะเดินหน้าผลักดันต่อหรือไม่ ถ้าไม่ก่อสร้าง ก็ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ 

อีกทั้งยังสั่งการให้จัดเตรียมบุคคลกรให้พร้อม เพราะในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีผู้บริหารระดับ โดยเฉพาะผู้อำนวยการท่าอากาศยาน จะเกษียนอายุประมาณ 15 คน จึงต้องเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อทดแทนให้เรียบร้อย โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตเป็นผู้อำนวยการท่าอากาศยาน

นายถาวร ยังกล่าวถึงกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. สนใจจะเข้ามาบริหารท่าอากาศยานในสังกัด ทย. จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานตาก ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานี ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหารือและมอบนโยบายเรื่องดังกล่าว แต่หาก ทอท. สนใจเข้ามาบริหารจริง ก็ต้องเข้ามาตามขั้นตอนการประมูลแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เหมือนเอกชนรายอื่นๆ

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ทอท. จะส่งเงินกองทุน ทย. เพื่อแลกกับการเข้ามาบริหารท่าอากาศยานทั้ง 4 แห่งนั้น นายถาวร กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ทย. ไม่สามารถนำทรัพย์ของรัฐบาลไปให้เอกชนได้ แต่ถ้า ทอท. ต้องการสนับสนุนเงินเข้ากองทุน ทย. ก็ยินดี

การสั่งพัฒนาสนามบินภูธร เป็นจุดเด่นในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาของรมว.ถาวรที่ชัดเจนจับต้องได้

จากนี้ไปจะเดินหน้าทุกโครงการในแผน 10 ปี วงเงินลงทุนกว่า 34,507 ล้านบาท ให้เกิดความต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วที่กำหนดนโยบายไว้ แต่ให้หาพื้นที่ใหม่เพิ่มให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ ให้สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น จะใช้เงินทุนหมุนเวียนของกรม มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินปีละกว่า 1,000 ล้านบาท และงบประมาณที่ได้รับจากรัฐในปี 2563 ยื่นขอไปกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนโครงการต่อเนื่อง และโครงการใหม่อีก 5,000 ล้านบาท