สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 253 ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้องค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรผู้บริโภคตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562” จำนวน 155 องค์กรแล้ว ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งไม่น้อยกว่า 150 องค์กรสามารถรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น
และในการดำเนินการขอเป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคประเทศไทยนี้ มีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายทะเบียนกลาง และผู้ช่วยรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับหนังสือ ซึ่งครั้งนั้นมีรายงานว่า นายทะเบียนกลางจะมีการตรวจสอบหลักฐานและเอกสาร การยินยอมเข้าร่วมขององค์กรผู้บริโภคที่ร่วมเข้าชื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับแจ้ง และตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะมีการประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค คือ สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย ในราชกิจจานุเบกษา รวมถึงทางระบบเทคโนโลยีสานสนเทศ ภายใน 30 วัน และเมื่อมีการจัดตั้ง สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย คณะผู้เริ่มก่อการต้องจัดทำร่างข้อบังคับของสภาองค์กรฯ และเรียกประชุมสมาชิกภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ประกาศการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เพื่อดำเนินกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ คือ พิจารณาข้อบังคับสภาฯ เลือกตั้งประธานและคณะกรรมการนโยบายของสภาฯ กำหนดนโยบาย แนวทาง หรือแผนงาน รวมทั้งกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
ล่าสุดทางด้านเครือข่ายสื่อมวลชนปกป้องผลประโยชน์ชาติ ได้ยื่นให้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ช่วยเปิดโปงองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคท้องถิ่นเถื่อน หลังพบทำเป็นขบวนการเพื่อขอเงินอุดหนุนจากรัฐกว่า 350 ล้าน นำโดยนายชัชวาลย์ คำไท้ ประธานเครือข่าย ได้นำข้อมูลหลักฐาน เปิดโปงเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ในระดับท้องถิ่น แจ้งข้อมูลเท็จหรือไม่ในการจดแจ้งจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคต่อนายทะเบียนจังหวัด และแกนนำเครือข่ายยังได้นำองค์กรเหล่านี้มารวมใน 151 องค์กร แล้วนำมายื่นจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งตามกฎหมายรัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุน 350 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงพบว่า เครือข่ายองค์กรไม่ได้ดำเนินการจดแจ้งให้ถูกต้องกฎหมาย
หลังจากที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องร้องให้ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบ 151 องค์กรผู้บริโภคที่ขอจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ว่ามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 2 ปี ตามกฎหมายหรือไม่ หวั่นเร่งจัดตั้งเข้ามากินงบประมาณแผ่นดิน หากไม่ถูกต้องควรเพิกถอนและดำเนินคดีตามกฎหมายเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2563 นั้น
พวกเราเป็นสื่อมวลชนในท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ พอรู้ว่า องค์กรนี้ต้องมาใช้เงินภาษีคนไทยทั้งประเทศ 350 ล้าน องค์กรในระดับจังหวัดบางแห่ง พวกเราไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อเลย จึงได้ลงไปตรวจสอบ ไปพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน ก็พบว่า ในหลายพื้นที่ ไม่มีที่ตั้งตามที่จดแจ้ง ไม่มีการทำกิจกรรมตามที่จดแจ้ง ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ อปท. ในพื้นที่ไม่รู้จักองค์กร ซ้ำร้ายกว่านั้น ที่อยู่ที่จดแจ้ง ในทะเบียนราษฎร์ไม่มีเลขที่นี้ในสารบบเลย บางองค์กรไม่มีที่ตั้ง ไม่มีคนที่อ้างว่าเป็นประธานเครือข่ายอยู่ในพื้นที่เลย อย่างน้อยตรวจสอบพบ 16 องค์กร และยิ่งรู้ว่า คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติจ่ายเงินไป 350 ล้านบาทแล้วด้วย เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 เราจึงต้องรีบนำข้อมูลหลักฐานมายื่นต่อคุณศรีสุวรรณ ให้ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อไป
ส่วนทางด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า การคุ้มครองผู้บริโภคปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 60 ที่ต้องมีกฎหมายลูกมารองรับ รัฐบาลเองได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคปี 2562 เรียบร้อยแล้ว องค์กรผู้บริโภคได้ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 150 องค์กรขึ้นไป แล้วจึงรวมตัวกันจัดตั้งได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติงบประมาณจ่ายเงินไป 350 ล้านบาท
โดยผู้รับเรื่องดำเนินการจัดตั้งคือ สำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากได้รับเอกสารแล้ว ตนเองอาจยื่นเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งเรื่องไปยังศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญว่าการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย