นักการทูตระดับสูงของอังกฤษได้เข้าพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชาเพื่อพยายามที่จะผลักดันบทบาทในอาเซียนให้มากขึ้น โดยอาศัยสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิด หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและกัมพูชาห่างเหิน ตึงเครียดมาระยะหนึ่ง และอังกฤษห่างหายไปเกือบ 30 ปี ทั้งนี้ฮุนเซนไม่ได้มาต้อนรับและประชุมด้วยตนเองโดยแจ้งล่วงหน้าไม่กี่วันว่าไม่สะดวกเพราะอยู่ในระหว่างกักตัว อาจเป็นด้วยผู้นำกัมพูชารู้ว่าวาระของอังกฤษมาเพื่อตอกย้ำ นโยบายอินโด-แปซิฟิกต้านจีนนั่นเอง
วันที่ 23 มิ.ย.2564 โดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ(British Secretary of State for Foreign, Commonwealth and Development Affairs Dominic Raab) ได้พบหารือกับ ปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา(Minister of Foreign Affairs Prak Sokhonn) ที่กรุงพนมเปญในสิ่งที่กระทรวงของเขาระบุว่า เป็นการเดินทางเยือนกัมพูชาครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศ นับตั้งแต่สถานทูตอังกฤษกลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อ 30 ปีก่อน
กัมพูชามีกำหนดที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในปีหน้า และกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่า โดมินิก ราบ จะยื่นเรื่องขอให้อังกฤษได้เป็น ‘ประเทศคู่เจรจา’ กับอาเซียน ที่เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่สุดสำหรับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก
“เรามาที่นี่เพื่อส่งเสริมการค้า สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของกัมพูชา ขยายความร่วมมืออังกฤษ-อาเซียน และเป็นพลังบวกให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” โดมินิก ราบ ทวีตข้อความก่อนเข้าร่วมการประชุม
อังกฤษกำลังมุ่งเน้นความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ตอบสนองต่ออิทธิพลของจีนที่ขยายตัวขึ้น
และนอกเหนือจากประเด็นด้านการค้าแล้ว เมื่อต้นปี อังกฤษยังได้ส่งกลุ่มเรือภายใต้การนำของเรือบรรทุกเครื่องบินเอชเอ็มเอส ควีน เอลิซาเบธ เดินทางมายังภูมิภาคเอเชียในภารกิจเดินทางนาน 28 สัปดาห์ เพื่อส่งเสริมบทบาทของอังกฤษในภูมิภาค
การพบหารือของโดมินิก ราบ และเจ้าหน้าที่กัมพูชา ผู้สังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนระบุว่ากัมพูชาเพิ่งจับกุมและจำคุกนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและเรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษเรียกร้องการปล่อยตัวคนเหล่านั้น ตลอดจนนักโทษการเมืองอีกราว 70 คน
“การเยือนของรัฐมนตรีราบเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ซึ่งในการประชุมหารือและการมีถ้อยแถลงต่อสาธารณะจำเป็นต้องสะท้อนถึงประเด็นนี้” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ภูมิภาคเอเชีย ระบุ
ฟิล โรเบิร์ตสัน กล่าวเสริมว่า“อังกฤษควรรับประกันว่าสิทธิพิเศษทางการค้าในอนาคตที่ให้กัมพูชา จะอยู่บนพื้นฐานของการปรับปรุงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”
ที่ผ่านมาข้อพิพาทหลายเรื่องระหว่างสหรัฐกับกัมพูชา สร้างแรงกระเพื่อมทั้งอาเซียนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ขณะเดียวกันยิ่งสหรัฐและตะวันตกกดดันกัมพูชามากเท่าไร ก็เท่ากับว่ายิ่งผลักกัมพูชาไปเป็นหนึ่งมิตรชิดใกล้กับจีนมากเท่านั้น
เมื่อต้นเดือนนี้ นางเวนดี เชอร์แมน รมช.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เยือนกรุงพนมเปญ เธอกล่าวกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่ารัฐบาลวอชิงตัน “วิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง” ต่อความเคลื่อนไหวทางทหารของจีนในกัมพูชา และเรียกร้องรัฐบาลพนมเปญรักษา “ความสมดุลและความเป็นอิสระ” ด้านนโยบายต่างประเทศ
ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ว่าสมเด็จฮุน เซน ตอบเชอร์แมนว่าอย่างไร แต่นายเฟย สีฟัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา กล่าวว่า “ยังมีหลายเรื่องที่สหรัฐไม่เข้าใจกัมพูชาอย่างถ่องแท้” และ “ยังมีหลายเรื่องที่กัมพูชาไม่ล่วงรู้เจตนาที่แท้จริงของสหรัฐ”
ขณะที่พล.อ.เตีย บัญ รมว.กระทรวงกลาโหมของกัมพูชา กล่าวว่า การที่รัฐบาลพนมเปญได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีจากจีน ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ และจัดการสภาพพื้นที่บริเวณท่าเรือเรียม มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านกลาโหมของกัมพูชาอย่างมาก โดยเฉพาะกิจการของกองทัพเรือและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการเทียบท่า และการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ กัมพูชามีความซาบซึ้งใจอย่างมากต่อความช่วยเหลือจากรัฐบาลปักกิ่ง
ต่อมาเมื่อ พ.อ.มาร์คัส เฟอร์รารา ผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐประจำกรุงพนมเปญ (Marcus Ferrara:Foreign Area Officer, U.S. Army) ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่พื้นที่ฐานทัพเรือเรียม ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งในจังหวัดพระสีหนุ หรือสีหนุวิลล์ ที่ติดกับอ่าวไทย ทั้งที่มีการตกลงกันกำหนดการกันเป็นทีเรียบร้อย “โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง” และจนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน ว่าเพราะเหตุใดผู้แทนด้านการทูตทหารของสหรัฐจึงไม่สามารถเข้าสู่ฐานทัพเรือเรียม ซึ่งเป็นฐานทัพขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชาได้
อีกประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมาสหรัฐก็เล่นบทเดิมเพื่อกดดันกัมพูชา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงพนมเปญประกาศยุติ การมอบงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลกัมพูชา ในการรักษาและพัฒนาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปรย ลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าสงวนขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้เหตุผลว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการมอบเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก แต่อัตราการลักลอบตัดไม้ยังคงอยู่ในระดับสูง และเจ้าหน้าที่รัฐกลับเดินหน้าใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชน และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งออกมาเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นตามกฎหมาย กล่าวคือใช้สิทธิมนุษยชนเป็นข้ออ้างกดดันกัมพูชานั่นเอง
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่กล่าวมา เกิดขึ้นภายในระยะเวลายังไม่ถึง 1 เดือน นับตั้งแต่การเยือนกรุงพนมเปญของเชอร์แมน ท่ามกลางบรรยกาศอันร้อนระอุ ของการแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยปิดบังจุดยืนที่มีต่อกัน สุดแล้วแต่จะแสดงออกแบบไหน รัฐบาลวอชิงตันเร่งเพิ่มความเข้มข้น ให้กับแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก จึงกลายเป็น “สมรภูมิ” ของการแข่งขันครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกัมพูชา เป็นหนึ่งในสิ่งที่สหรัฐมองว่า “เป็นอุปสรรคสำคัญ” ที่จะขับเคลื่อนแผนการให้เป็นไปอย่างราบรื่น
แต่จะว่าไป ในสายตาของสหรัฐที่มองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลพนมเปญ ไม่น่าจะแตกต่างจากที่รัฐบาลอวชิงตันมองภูมิภาคแห่งนี้ ในนามสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ในภาพรวม ซึ่งสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ มีเศรษฐกิจที่ยังคงต้องพึ่งพาจีนและมีนโยบายเป็นกลาง ไม่แทรกแซงกิจการภายในกัน
แม้สมาชิกแต่ละประเทศมีมุมมองเชิงลึกต่อสหรัฐและจีนแตกต่างกันออกไป แต่ในภาพรวมถือว่าอาเซียนสามารถรักษาสมดุล ในการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐและจีน ได้อย่างดีเท่าที่จะทำได้แล้ว มองจากภายนอกอาเซียนอาจดูเหมือน “เสือกระดาษ” ทว่าท่ามกลางความแตกต่าง อาเซียนยังสามารถหลอมรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อรับมือกับ “การแทรกแซงอย่างทะลุทะลวง” จากภายนอก
อย่างไรก็ดี การเยือนกัมพูชาของเชอร์แมน “น่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น” ของการเดินเกมรุก “รอบใหม่” จากสหรัฐต่ออาเซียน ซึ่งกัมพูชาเตรียมทำหน้าที่ประธานประจำปีหน้า