บินไทยผ่าตัดองค์กร!?! โยกคนคุมเงิน-บริหารบุคคลออกนอกวงฟื้นฟู! ลุยเสนอแผนศาล 17 ส.ค. สางหนี้ 3.5 แสนล้าน

1931

คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย เร่งทำแผนฟื้นฟูเสนอศาล 17 ส.ค.นี้ เผยเตรียมปรับโครงสร้างหนี้ 3.5 แสนล้าน โยก 2 ผู้บริหารระดับสูงเปิดทางลุยแผนฟื้นฟู จัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ลดขนาด เร่งเจรจาเจ้าหนี้ พีระพันธ์ฯยืนยันทำแผนเสร็จทันแน่นอน

ปลายเดือนมิถุนายน นายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการการบินไทย และในฐานะคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทยเปิกฉากบทบาทการฟื้นฟูฐานะการบินไทยด้วยการ เปิดรับฟังปัญหาจาก สหภาพแรงงานการบินไทย และภายหลังการหารือดังกล่าว สร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นให้พนักงาน  โดยยืนยันกับพนักงานประเด็นของการปรับโครงสร้างองค์กร ที่มีเป้าหมายลดพนักงาน 30% ยืนยันจะปรับลดให้เหลือเพียง 5% จากพนักงานประมาณ 2 หมื่นคน เนื่องจากมีเป้าหมายที่จะปรับแผนโดยโอนย้ายพนักงานที่เกินความจำเป็นในบางฝ่าย ไม่ทำให้กระทบในฝ่ายที่มีความต้องการสูง และเป็นหน่วยธุรกิจที่สามารถหารายได้ให้องค์กรได้เป็นอย่างดี เช่น ครัวการบิน ฝ่ายช่าง และศูนย์ซ่อมอากาศยาน

ล่าสุดนายพีรพันธ์แจงว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ โดยเริ่มปรับโครงสร้างการบริหาร ที่เดิมเทอะทะ และบางแห่งซับซ้อนให้กระชับมากขึ้น โดยเฉพาะสายการพาณิชย์ เพื่อปรับให้สามารถหารายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปพร้อมๆกับการดำเนินแผนการฟื้นฟูทางยุทธศาสตร์โดยรวม 

 ความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะผุ้ทำแผนฟื้นฟู

1.การปรับโครงสร้างการบริหาร-ปรับองค์กร  โดยได้แต่งตั้งโยกย้าย 2 ผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) 2 ตำแหน่งได้แก่  ณัฐพงศ์ สมิตอำไพพิศาล อดีตซีเอฟโอ , สุวิมล บัวเลิศ รับผิดชอบงานด้านบุคคลากรและบริหารทั่วไป เข้าสังกัดสำนักงานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 

ชาญศิลป์ รักษาการดีดี ดึงงานงานด้านทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไปมาคุมเองโดยตรง

ชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และสายการเงินและการบัญชี (CFO) มีผลตั้งแต่ 20 ก.ค.63   

ขั้นต่อไปต่อไปจะรื้อใหญ่โครงสร้างของสายการพาณิชย์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้ของการบินไทย ถ้าดูตัวเลขรายได้ของปี 2562 ก็ไม่น้อย แต่ไม่คุ้มหนี้ที่ท่วม จนต้องตกอยู่ในสภาพขอฟื้นฟูกล่าวคือการบินไทยมีรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารต่างประเทศทั่วโลกประมาณ 1.35 แสนล้านบาท และรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารในประเทศไทยประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท  เช่นนี้จะต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ จากที่หารายได้ผ่านเอเย่นต์ในการจำหน่ายบัตร ต้องเปลี่ยนเป็นทำเอง เพื่อเดินไปสู่โหมดการฟื้นฟูการบินไทย

2.ด้านการปรับโครงสร้างหนี้

การบินไทยรายงานถึงการพักชำระหนี้  เมื่อโดนไล่บี้ให้จ่ายหนี้หุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอนครบทุกชุด ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์รับทราบว่า ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

นอกจากนี้คณะกรรมการการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย ได้จัดทำรายงานระบุ ฐานะการเงินของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 20.81% มีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 244,899 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากรวมหนี้สินของการบินไทยทั้งหมดจากเจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน เงินกู้ยืมจากกิจการที่เกี่ยวข้อง หนี้สินตามสัญญาดำเนินงาน ฯลฯ จะมีหนี้สินสะสมกว่า 352,484 ล้านบาท

ส่วนประมาณการสภาพคล่องของการบินไทย พบมีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถลดได้ประมาณเดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ สภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะใช้หมุนเวียนตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563 โดยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้ หากเจรจาสำเร็จจะทำให้มีสภาพคล่องมากกว่าประมาณการ

3.การเจรจาเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้

-กลุ่มเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่และเจ้าหนี้ให้เช่าเครื่องบิน (Lessors) ทีมที่ปรึกษากฎหมายของการบินไทยได้เจรจาไปแล้ว 21 ราย ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและยินดี สนับสนุน การบินไทยต่อไป  ขั้นตอนต่อไปการบินไทยจะต้องเสนอแผนการทยอยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้พิจารณา และหนังสือยินยอมให้การบินไทยใช้เครื่องบินต่อไป(Consent to use aircrafts) 

-เจ้าหนี้สถาบันการเงินในประเทศ  การบินไทยได้เริ่มนัดเจรจาไปแล้ว 16 สถาบันการเงิน “เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง”  ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงการบินไทย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563  เพื่อขอให้ชําระคืนหนี้กู้ต่อจํานวน 437.45 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมค่าธรรมเนียมการให้กู้ยืมเงินต่อ   ซึ่งการบินไทยยังไม่ได้ชําระคืนเงินกู้จํานวนดังกล่าวเนื่องจาก อยู่ภายใต้สภาวะพักการชําระหนี้ ชั่วคราวโดยผลของกฎหมาย (Automatic Stay) ตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

-เจ้าหนี้หุ้นกู้  การบินไทยยังไม่ได้เริ่มกระบวนการเจรจากับเจ้าหนี้หุ้นกู้ทั้งเจ้าหนี้ ที่เป็นสหกรณ์และรายย่อย เนื่องจากการบินไทยอยู่ภายใต้สภาวะพักการชําระหนี้ชั่วคราวโดยผลของกฎหมาย (Automatic Stay) ตามกระบวนการฟื้นฟูและต้องรอความชัดเจนในแผนธุรกิจใหม่ (New Business Plan) เพื่อกําหนดกรอบในการเจรจาต่อไป

ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งแรกในวันที่ 17 ส.ค.2563 โดยศาลล้มละลายกลางได้เปิดให้เจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียรับทราบและหากประสงค์คัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในวันที่ 13 ส.ค.2563 ในการนี้พีรพันธ์ฯ ยืนยันว่าจัดทำแผนทันแน่นอน

………………………………………………..