ส่งออกยางเดือนมี.ค.โตทะลุเกิน 100% ไปแล้วทำให้ ราคาปลีกดีดกลับที่ 70 บาท/กก. สูงกว่าราคาประกัน ทำให้รัฐไม่ต้องชดเชย อีกด้านหนึ่งทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ระบายสต๊อก 1 แสนตันซึ่งทางภาคเอกชน มองว่าช่วยลดแรงกดดันผลผลิตฤดูใหม่ ขณะที่ตลาดโลกฟื้นตัวโดย “จีน-อินเดีย” ลูกค้าหลักสั่งซื้อทะลักดันมูลค่าส่งออกเดือน มี.ค.2664 โตนิวไฮ 109%
แนวโน้มการส่งออกยางในปี 2564 ปรับดีขึ้นมาก โดยจากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุดรายงานว่า การส่งออกเดือนมีนาคม มีปริมาณ 349,427 ตัน เพิ่มขึ้น 65.50% มีมูลค่า 587 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ เพิ่มขึ้น 109.18% ส่งผลให้ยอดส่งออกยางในไตรมาสแรกมีปริมาณ 870,030 ตัน เพิ่มขึ้น 10.68% มูลค่า 1,441 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 38.14%
สำหรับลูกค้าหลักได้แก่ตลาดจีนที่เป็นตลาดอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนการส่งออกถึง 32% มีความต้องการยางเพิ่มขึ้น 17%
ที่สำคัญตลาดอินเดีย ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 127%
ตลาดที่รองลงมาทั้งมาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ เติบโตขึ้นทั้งหมด และไม่เพียงเฉพาะยางพาราเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์จากยางก็เพิ่มขึ้นด้วย มีมูลค่า 3,932 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.54%
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่าปี 2564 ถือว่าสถานการณ์ราคายางพาราในประเทศมีเสถียรภาพมาก โดยราคายางยังปรับตัวในทิศทางดีต่อเนื่อง ตอนนี้ราคายางแผ่นรมควันอยู่ในระดับ 60-65 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจัยหลักจากปริมาณยางออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดกรีด และสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับผู้ประกอบการมีความต้องการยาง เพื่อส่งมอบและขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง
ผู้ว่าการยางกล่าวว่า “การประมูลขายสต๊อกยางเก่า 1 แสนตันที่เก็บมาถึง 9 ปี แม้ว่าจะมีผู้เสนอราคาเข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว และอาจจะมีผลต่อราคาตลาดในช่วงสั้น แต่แนวโน้มจะดีต่อราคาในระยะยาว เพราะจะไม่มีสต๊อกมาเป็นแรงกดดันต่อผลผลิตยางที่กำลังจะออกสู่ตลาดในปลายเดือน พ.ค.นี้ ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าภาพรวมการส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวได้กว่า 3.7 ล้านตัน ส่วนราคาส่งออกขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นมาถึง 70 บาทอีกครั้ง ส่วนราคาน้ำยางสดที่ 61.50 บาท และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 66.02 บาท”
ราคาต่อกิโลกรัม:วันที่ 6 พ.ค.2564
ราคายางแผ่นดิบ 59.60 บาท น้ำยางสด(ณ โรงงาน) 63.00 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 -68.02 บาท
ราคาตลาดกลางสุราษฎร์ธานี 68.45 บาท
ส่วนราคาส่งออก(FOB) 72.60 บาท
เนื่องจากราคายางพาราปัจจุบันปรับขึ้นสูงกว่าเงินประกันที่รัฐกำหนดไว้ ก่อนหน้านี้มีเฉพาะเดือนก.พ.2564 เท่านั้นที่ ทางรัฐบาลจ่ายเงินค่าประกันให้สินค้ายางบางประเภท สรุปที่ผ่านมาในไตรมาสแรกดังนี้คือ
การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคายางพาราให้เจ้าของสวนยางพาราและคนกรีดยาง จำนวน 1,377,935 ราย คิดเป็นเงิน 7,290.18 ล้านบาท
การจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ตั้งเดือน พ.ย. 2563 ถึง มี.ค. 2564 แบ่งเป็น 6 งวด จ่ายจริงจำนวน 5 งวด เนื่องจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ราคายางปรับตัวในทิศทางราคาที่สูงกว่าราคาประกันรายได้ที่ตั้งไว้ จึงไม่มีการชดเชย ซึ่งสถานกาณณ์ยางพารายังคงเป็นไปในทิศทางที่ดีจนมาถึงเดือนมีนาคม 2564 ทำให้การชดเชยราคายางงวดสุดท้ายมีเพียงยางก้อนถ้วยชนิดเดียวที่มีการชดเชยส่วนต่างของราคาประกันรายได้
ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย มีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่ การจ่ายเงินประกันยึดหลักเกณฑ์ตามโครงการระยะที่ 1 คือ ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน