ก.คลังยันพร้อมจ่ายเยียวยาสู้โควิด!?! “เราชนะ”และ “ม.33 เรารักกัน”ทุ่มงบฯ 2.5 แสนล้านบาทพร้อมโอนถึงมือปชช.โดยตรง

1514

รัฐบาลทุ่มงบฯเยียวยา พยุงเศรษฐกิจไทย ส่งแผนเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ บูม “ม.33 เรารักกัน” ช่วยภาคแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรการเราชนะ ช่วยแบบทั่วหน้า ในการนี้ ก.การคลังชี้แจงว่า เตรียมเงินเต็มหน้าตักสู้โควิด-19 ระบาดใหม่เต็มที่ ใช้สำหรับม.33 เรารักกัน 40,000 ลบ., “เราชนะ” ใช้ประมาณ 210,200 ลบ.ส่วนด้านสาธารณสุขเตรียมไว้ 45,000 ลบ. หวังคนไทยได้ใช้แอพฯเป๋าตังคล่องและทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลให้บิกดาต้า ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่ม ทำให้การช่วยเหลือของรัฐบาลในกรณีต่างๆถึงมือประชาชนได้โดยตรง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รัฐบาลมีวงเงินที่จะใช้ในการเยียวยาผลกระทบการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่เต็มที่ ตั้งงบฯสำหรับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” จำนวน 40,000 ล้านบาท และโครงการเราชนะ 210,000 ล้านบาท โดยนำเงินที่เหลือจากวงเงินพ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทมาใช้มาตรการเยียวยา

ข้อมูล ณ วันที่ 22 ม.ค.2564 ครม.ได้อนุมัติวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว  711,607 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.แผนงานด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 19,698 ล้านบาท เบิกจ่ายไป 1,561 ล้านบาท  2.แผนงานเยียวยา 565,000 ล้านบาทหลังโอนมาจากแผนฟื้นฟู 10,000 ล้านบาท ได้อนุมัติแล้ว 558,753 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 322,819 ล้านบาท คงเหลือ 210,200 ล้านบาทซึ่งจะนำมาใช้จ่ายในโครงการ “เราชนะ” 3. แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 390,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 133,159 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 48,998 ล้านบาท คงเหลือ 256,841 ล้านบาท

เมื่อวานนี้มีข่าวดีสำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม มาตร 33 กล่าวคือโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว ซึ่งช่วงเวลาลงทะเบียนได้รับการยืนยันจากธนาคารกรุงไทย คือ 21 กุมภาพันธ์-7 มีนาคม 2564

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ ม.33 เรารักกัน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ช่วยดูแลพี่น้องแรงงานจากผลกระทบโควิด-19 รวมทั้งนายจ้างผู้ประกอบการให้เหมือนคนในครอบครัว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย และได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหาแนวทางการในการเพิ่มการเยียวยาแก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 ให้เท่าเทียมกับกลุ่มอื่น ๆ ที่รัฐได้ช่วยเหลือไปแล้ว เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลจึงเยียวยารายละ 4,000 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1) ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย 2) เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 3) ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ 4) ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท

นายสุชาติ ยังกล่าวถึง ล่าสุดได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทยได้ยืนยันระยะเวลาการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ มาแล้ว โดยกำหนดไทม์ไลน์ ดังนี้ 1) ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และตรวจสอบการได้รับสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.-7 มี.ค.64 2) ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งประมวลผลคัดกรอง วันที่ 8-14 มี.ค.64 3) กดใช้งานและกดยืนยันตัวผ่านแอพพลิเคชั่น”เป๋าตัง”วันที่ 15 – 21 มี.ค.64 4) ได้วงเงินผ่าน “เป๋าตัง” 1,000 บาท ในวันที่ 22,29 มีนาคม และวันที่ 5,12 เม.ย.64 5) เริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายในโครงการเราชนะ ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. – 31 พ.ค.64ทั้ง คาดว่าจะมีผู้ประกันตน ม.33 เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ จำนวน 9.27 ล้านคน ใช้วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 37,100 ล้านบาท

ส่วนโครงการ “เราชนะ” ยังได้รับความสนใจจากประชาชนมาก

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการเราชนะในวันแรกที่เริ่มมีการโอนวงเงินสิทธิ์ให้แก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (กลุ่มผู้ถือบัตรฯ) จำนวน 13.8 ล้านคน 

โดยกลุ่มผู้ถือบัตรฯ จะได้รับการจัดสรรวงเงินสิทธิ์เป็นรายสัปดาห์ทุกวันศุกร์จนครบวงเงินสิทธิ์ของโครงการ และสามารถสะสมวงเงินสิทธิ์ เพื่อใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งกลุ่มผู้ถือบัตรฯ สามารถตรวจสอบวงเงินสิทธิ์คงเหลือได้ที่เครื่องกดเงินสดอัตโนมัติ (Cash Machine หรือ ATM) และเครื่องรูดบัตร (Electronic Data Capture หรือ EDC) ที่ร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันที่ 5 ก.พ.64 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทย) ได้มีการปิดระบบการใช้สิทธิ์โครงการเราชนะปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการปรับปรุงระบบดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และกลุ่มผู้ถือบัตรฯ สามารถใช้จ่ายได้ตามปกติภายใต้โครงการเราชนะ ตั้งแต่เวลา 17.30 น.

สำหรับกลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่งที่ยืนยันตัวตนสำเร็จภายในวันที่ 27 มกราคม 2564 (กลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลฯ) สามารถตรวจสอบการคัดกรองคุณสมบัติได้ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 

โดยกลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลฯ ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ครั้งแรกในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2,000 บาท และจะได้รับวงเงินสิทธิ์เป็นรายสัปดาห์ทุกวันพฤหัสบดีจนครบวงเงินสิทธิ์ของโครงการ

โฆษกกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำสำหรับกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์จากโครงการเราชนะทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com (กลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนฯ) จะมีการทยอยประกาศผลการคัดกรองคุณสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ลงทะเบียนแล้ว แต่ได้รับข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนสถานะ “ลงทะเบียนไม่สำเร็จ” ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในการกรอกเลขประจำตัวประชาชน เลขรหัสหลังบัตรประชาชน (Laser ID) ชื่อ ชื่อกลาง (ถ้ามี) นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด โดยประชาชนที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จสามารถลงทะเบียนใหม่ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ทันทีหลังจากได้รับ SMS แจ้งเตือนจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะเปิดช่องทางให้กลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลฯ และกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนฯ ที่ตรวจสอบสถานะแล้วพบว่า “ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ” สามารถแสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ได้ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com เท่านั้น โดยสามารถแสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2564 และสามารถตรวจสอบผลการทบทวนสิทธิ์ได้ทางเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าในกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มและร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการเราชนะได้ทางเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือติดต่อที่สาขาของธนาคารกรุงไทย สำหรับผู้ให้บริการรายย่อยที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งและตรวจสอบได้หรือบริการขนส่งสาธารณะที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการเราชนะได้ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หรือติดต่อที่สาขาของธนาคารกรุงไทย