รถไฟฟ้าสีเขียวทำให้นักการเมืองเข้ากันดีกับองค์กรผู้บริโภค ประสานกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างไม่เคยพบมาก่อนเมื่อ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และเป็นเบอร์หนึ่งคุมกระทรวงคมนาคม เคลื่อนไหวสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคและพรรคก้าวไกล พร้อมใจกันถล่มขวางต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วใช้โดยสารกันมาแล้วหลายเดือน ไม่สนใจเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งเก่าใหม่ ชูแต่เรื่องค่าโดยสารแพงว่าเอกชนเอาเปรียบ และใช้ข้อมูลชุดเดียวกันโดยบิดเบือนไม่ตรงข้อเท็จจริง ดูไม่ชอบมาพากลและไม่พ้นข้อครหาว่าเล่นการเมืองบนความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่?
ท่ามกลางการให้ข้อมูลสับสนกันไปคนละอย่าง เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.2564)ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้เชี่ยวชาญระบบการจราจรขนส่งมหภาค ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้รายละเอียดชัดเจนมากเรื่องราคาเปรียบเทียบรถไฟฟ้าสีเขียวกับสีน้ำเงิน มีรายละเอียดดังนี้
เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าของ กทม.หรือของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถูกกว่า หาคำตอบได้จากบทความนี้
รถไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของ กทม.คือรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีเส้นทางดังนี้
- เส้นทางหลัก
ประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร กทม.ได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2572 โดยบีทีเอสเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% ทั้งงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เป็นเงินประมาณ 53,000 ล้านบาท และต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมดด้วย
- ส่วนต่อขยาย
2.1) ส่วนต่อขยายที่ 1
ประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร กทม.จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2555-2585
2.2) ส่วนต่อขยายที่ 2
ประกอบด้วยช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร และช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 17.8 กิโลเมตร กทม.จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2559-2585
หาก กทม.ขยายสัมปทานให้บีทีเอสเป็นเวลา 30 ปี ตั้งปี 2573-2602 โดยจะต้องพ่วงส่วนต่อขยายให้บีทีเอสรับผิดชอบด้วยตั้งแต่วันที่จะลงนามสัญญาจนถึงปี 2602 บีทีเอสจะต้องเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท และถ้าได้ผลตอบแทนเกิน 9.6% จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.เพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ บีทีเอสจะต้องรับภาระหนี้แทน กทม.ถึงปี 2572 และจะต้องรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมด
รถไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม.ที่เปิดให้บริการแล้วคือสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง
- สายสีน้ำเงิน
1.1) เส้นทางหลัก
ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร รฟม.ได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มเป็นเวลา 25 ปี จากปี 2547-2572 เส้นทางนี้ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 115,812 ล้านบาท โดย รฟม.ลงทุนงานโยธาเป็นเงิน 91,249 ล้านบาท คิดเป็น 79% และบีอีเอ็มลงทุนงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เช่น ขบวนรถ ติดตั้งระบบสื่อสาร อาณัติสัญญาณ และระบบตั๋ว เป็นเงิน 24,563 ล้านบาท คิดเป็น 21%
1.2) ส่วนต่อขยาย
ประกอบด้วยช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 11.08 กิโลเมตร และหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร เป็นการลงทุนรูปแบบเดียวกันกับเส้นทางหลัก กล่าวคือ รฟม.ลงทุนงานโยธา และบีอีเอ็มลงทุนงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
รฟม.ได้ขยายสัมปทานเส้นทางหลักให้บีอีเอ็มออกไปอีก 20 ปี จากปี 2573-2592 โดยพ่วงส่วนต่อขยายให้บีอีเอ็มเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตั้งแต่ปี 2560-2592 มีการลงนามในสัญญาขยายสัมปทานไปแล้วเมื่อปี 2560 โดยบีอีเอ็มเก็บค่าโดยสารสูงสุดได้ไม่เกิน 42 บาท หากได้ผลตอบแทนไม่เกิน 9.75% ไม่ต้องแบ่งรายได้ให้ รฟม. แต่ถ้าได้เกิน จะต้องแบ่งให้ รฟม. ทั้งนี้ บีอีเอ็มไม่ต้องช่วยแบกภาระหนี้แทน รฟม. แต่ต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมด
- รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร มีบทบาทหน้าที่เหมือนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เนื่องจากมีเส้นทางต่อจากสายสีน้ำเงินที่เตาปูน รถไฟฟ้าสายนี้ รฟม.ลงทุนเองทั้งหมด 100% เป็นเงิน 62,903 ล้านบาท และต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมดด้วย โดยได้จ้างบีอีเอ็มให้เดินรถตั้งแต่ปี 2559-2592 เหตุที่ รฟม.ต้องลงทุนเองทั้งหมดเป็นเพราะรถไฟฟ้าสายนี้มีผู้โดยสารน้อย เอกชนจึงไม่สนใจมาร่วมลงทุน
ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กทม.หรือ รฟม.ถูกกว่า?
เพื่อความเป็นธรรม การเปรียบเทียบค่าโดยสารจะต้องเปรียบเทียบต่อระยะทาง 1 กม. ปรากฏว่าได้ผลดังนี้
- รถไฟฟ้า กทม. หรือสายสีเขียว ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท เดินทางได้ไกลสุดคือจากคูคต-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 53 กิโลเมตร คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ย 1.23 บาทต่อกิโลเมตร
- รถไฟฟ้า รฟม. หรือสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ค่าโดยสารสูงสุด 70 บาท เดินทางได้ไกลสุดคือจากคลองบางไผ่ (บางใหญ่)-หัวลำโพง ระยะทาง 44 กิโลเมตร กล่าวคือจากคลองบางไผ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง ค่าโดยสาร 42 บาท และจากเตาปูน-หัวลำโพง ระยะทาง 21 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ค่าโดยสาร 28 บาท คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ย 1.59 บาทต่อกิโลเมตร
สรุป
- ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กทม. หรือสายสีเขียวเฉลี่ย 1.23 บาทต่อกิโลเมตร
- ค่าโดยสารรถไฟฟ้า รฟม. หรือสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วงเฉลี่ย 1.59 บาทต่อกิโลเมตร
- สรุปได้ว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กทม.หรือสายสีเขียวถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้า รฟม. หรือสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วง 36 สตางค์ต่อกิโลเมตร ซึ่งหากคำนึงถึงสัดส่วนการลงทุนในเส้นทางหลัก ค่าโดยสารรถไฟฟ้า รฟม.ควรถูกกว่า เพราะรัฐร่วมลงทุนมากกว่า