กระทรวงพาณิชย์ชี้ FTA ช่วยดันส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไทย 2 เดือนแรกปี 2564นี้เป็นปลื้ม ปรากฏว่าไทยส่งออกไปตลาด FTA ทะลุกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 10% เครื่องเทศและสมุนไพร ผลไม้สด ทั้งแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวดีมาก นอกจากนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังเปิดเผยว่า การส่งออกผลไม้ไปคู่เจรจาเอฟทีเอ 2 เดือนปีนี้ มีมูลค่า 461 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 107% คิดเป็นสัดส่วน 94.94% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด โดยเฉพาะ “ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง” ได้รับความนิยมมากสุด ชี้ล่าสุด 12 คู่เจรจาเอฟทีเอยกเว้นภาษีให้ไทยแล้ว เหลือแค่ 6 ประเทศ ส่วนอาร์เซ็ปที่เพิ่งลงนามไปเมื่อ พ.ย. 63 เกาหลีใต้จะลดภาษีทุเรียน มังคุด ส่วนเวียดนาม ลดภาษีส้ม
แม้โควิดระบาดระลอกใหม่นี้ดูน่าหวั่น แต่คนไทยต้องตั้งสติและความจริงไม่ได้แย่อย่างที่หวาดวิตก แม้การท่องเที่ยวอาจไม่เป็นไปดังที่ตั้งความหวัง แต่การค้าขายยังไม่สะดุด โดยเฉพาะส่งออกเพราะโลกยังคงต้องการอาหาร ยา สินค้าจำเป็นในการอุปโภคบริโภค ตัวเลขการส่งออกเป็นความจริงที่เราสามารถอุ่นใจได้ว่า หนทางสร้างรายได้ยังมีอยู่และดีเสียด้วย
วันที่ 14 เม.ย.2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกไปยัง 18 ประเทศเอฟทีเอ มูลค่า 4,361 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วน 68% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปทั้งหมดของไทย)หรือขยายตัวถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยตลาดที่ขยายตัว ได้แก่ มาเลเซีย (+26%) เวียดนาม (+27%) สิงคโปร์ (+13%) สปป.ลาว (+9%) เมียนมา (+8%) จีน (+43%) ฮ่องกง (+0.4%) ออสเตรเลีย (+8%) และชิลี (+27%)
สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกไปตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ ยางพารา (+12%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+48%) ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง (+94.5%) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (+2.9%) ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (+22%) เครื่องเทศและสมุนไพร (+99%) สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง (+17%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป (+5%) และอาหารสัตว์เลี้ยง (+20%)
นางอรมน กล่าวเสริมว่า “ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ การผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ และการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้แนวโน้มความต้องการของสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าอาหาร สินค้ากลุ่มวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม”
ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 การค้ารวมของไทยกับ 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ มีมูลค่า 51,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+8%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 63.75% ของการค้าของไทยทั้งหมด เป็นการส่งออกมูลค่า 24,441 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า มูลค่า 26,587 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นั่นคือภาพรวมส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรก มาดูตัวเด่นคือผลไม้ไทยที่ส่งออกอย่างพุ่งกระฉูดว่าเป็นอย่างไร?
กรมเจรจาการค้าฯ ได้ติดตามสถิติการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จำนวน 18 ประเทศ ในช่วง 2 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.พ.) พบว่ามีมูลค่าการส่งออกรวม 461 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 107% และคิดเป็น 94.94% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้ทั้งหมดของไทย โดยตลาดการส่งออกที่มีการขยายตัว ได้แก่ จีน เพิ่ม 162% มาเลเซีย เพิ่ม 263% สิงคโปร์ เพิ่ม 44% อินโดนีเซีย เพิ่ม 686% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 187% ฮ่องกง เพิ่ม 19% ออสเตรเลีย เพิ่ม 8% และชิลี เพิ่ม 786% เป็นต้น ส่วนผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดสด ลำไยสด และมะม่วงสด ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก โดยมีผู้ส่งออกไทยขอใช้สิทธิในการส่งออกผลไม้ดังกล่าวในลำดับแรกๆ
สำหรับความตกลงเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศนั้น 12 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฮ่องกง ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้สดผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้งทุกรายการจากไทยแล้ว ส่วนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้ส่วนใหญ่ให้ไทย เหลือเพียงสินค้าบางชนิดที่ยังเก็บภาษีนำเข้าจากไทย
ทั้งนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ซึ่งไทยเพิ่งร่วมลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ปรากฏว่าไทยสามารถผลักดันการลดภาษีเพิ่มเติมในสินค้าผลไม้ เช่น เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีทุเรียนสดและมังคุดสด และเวียดนามจะทยอยลดภาษีส้ม จนเหลือ 0% ในปีที่ 10 หลังความตกลงมีผลใช้บังคับ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นความหวังที่จับต้องได้ของคนไทย และรัฐบาลในการหารายได้เข้าประเทศอย่างเต็มที่ มีแต่ต้องคอยระวังการทุจริตสวมสิทธิ์นำผลไม้เพื่อนบ้านส่งออกไปให้ลูกค้า ทำให้ผลไม้ไทยเสียชื่อเท่านั้น อะไรที่ฮอตฮิตก็จะมีกระบวนการเตะตัดขา รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ก็กำลังดำเนินการเข้มงวดและคาดโทษไว้อย่างหนักว่า ใครทำผลไม้ไทยเสียชื่อมีทั้งโทษปรับและถูกเพิกถอนสิทธิ์ด้วย