ถอยดีกว่าอย่าดื้อ!!หนุน ‘รฟม.’ ใช้เกณฑ์เดิม เปิดประมูลรถไฟฟ้าสีม่วงใต้-สีส้มตะวันตก

1282

การพัฒนารถไฟฟ้าสีส้มตะวันตกและสีม่วงใต้ต้องสะดุดลง ไปต่อไม่ได้เพราะเกิดข้อถกเถียงถึงความโปร่งใสในการใช้เกณฑ์ประมูล ซึ่งปมปัญหาเริ่มมาจากการที่ รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก จาก “เกณฑ์เดิม” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน  กรณีสายสีส้มตะวันตก ต้องได้ไม่น้อยกว่า 85% หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ซึ่งกรณีสายสีส้มตะวันตกใช้ “ผลตอบแทน” จากนั้น ใครเสนอผลตอบแทนสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ในวงการประมูลมักเรียกเกณฑ์นี้ว่า “เกณฑ์ราคา” เป็นที่ยอมรับและยึดถือปฏิบัติกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของ รฟม. และของหน่วยงานอื่น

แต่รฟม.กลับเปลี่ยนไปใช้ “เกณฑ์ใหม่” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคาหรือผลตอบแทน มักเรียกเกณฑ์นี้ว่า “เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา” เพื่อเปิดประมูลใหม่รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสีม่วงใต้ โดยกำหนดคะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดชนะการประมูล ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่อพิรุธ เอื้อรายใหญ่บางรายหรือไม่?

ล่าสุดดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมขนส่งมหภาค ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหนุน ‘รฟม.’ เลิกใช้เกณฑ์ใหม่ฉาว เปลี่ยนเป็นเกณฑ์ราคา ประมูลรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ใหม่ พร้อมเรียกร้องใช้กับสายสีส้มตะวันตกด้วยดังนี้

หลังจากล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รฟม. กลับมาประมูลใหม่ด้วยเกณฑ์ประมูลที่ ผมเรียกร้องให้ใช้ เลิกดัน “เกณฑ์ฉาว” ที่ผมคัดค้านมาตลอด เพราะประชาชนและประเทศชาติจะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด

มาดูกันว่ารฟม. ใช้เกณฑ์อะไรในการประมูลครั้งแรก

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงินตามมติ ครม. 78,720 ล้านบาท โดยใช้ “เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา” กล่าวคือ รฟม. พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคาพร้อมๆ กัน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านราคา 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล

ดร.สามารถกล่าวว่า “ไม่เห็นด้วยกับการใช้เกณฑ์นี้” เนื่องจากผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุด และมีความสามารถในการก่อสร้างสูงอาจไม่ได้รับเลือก ทำให้รัฐต้องเสียค่าก่อสร้างสูงกว่าอย่างน่าเสียดาย และที่สำคัญ เกณฑ์คัดเลือกนี้จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งก็ได้ หรือล็อกผู้รับเหมาได้ง่ายกว่านั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้เสนอให้ รฟม. ใช้ “เกณฑ์ราคา” ซึ่งจะทำให้ รฟม. ได้ผู้รับเหมาที่มีความสามารถสูงและเสนอราคาต่ำสุด เกณฑ์ราคาเป็นเกณฑ์ที่นิยมใช้ในการประมูลโครงการขนาดใหญ่

กรณีรฟม. ล้มประมูลสายสีม่วงใต้

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รฟม. ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ โดยอ้างว่าส่งเอกสารบางรายการไปไม่ถึงผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ รฟม. ได้ลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับผู้เข้าร่วมประมูล และผู้สังเกตการณ์ภายใต้โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อตกลงคุณธรรมเป็นการตกลงร่วมกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการประมูล ที่น่าสังเกตก็คือ รฟม. ไม่อ้างถึงเกณฑ์ประมูลที่ถูกผมคัดค้าน

ต่อมารฟม. เปิดประมูลสายสีม่วงใต้ใหม่

โดยขณะนี้ รฟม. กำลังเตรียมการประมูลใหม่ อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็น “ร่างทีโออาร์” จากผู้สนใจ เอกสารมีจำนวนมากแต่ให้เวลาช่วงสั้นๆ ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2564 ผมได้อ่านร่างทีโออาร์เฉพาะส่วนที่ผมสนใจแล้วพบว่า รฟม. ได้ตัดสินใจเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจากเดิมที่ใช้ “เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา” เป็น “เกณฑ์ราคา” ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ผมเรียกร้องให้ใช้ เนื่องจากจะทำให้ รฟม. ได้ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง และเสนอราคาต่ำสุด

ทั้งนี้ เกณฑ์ราคาเป็นการพิจารณาผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์เทคนิคมาก่อน โดย รฟม. กำหนดคะแนนขั้นต่ำที่ผ่านเกณฑ์เทคนิคไว้ 85% ผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์เทคนิคเท่านั้นจะได้รับการพิจารณาเกณฑ์ราคา ใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะชนะการประมูล

ตกลงรฟม. จะใช้เกณฑ์อะไรในการประมูลสายสีส้มตะวันตก?

รฟม. ล้มการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หลังจากเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศจาก “เกณฑ์ราคา” เป็น “เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา” เป็นผลให้ผู้เกี่ยวข้องถูกฟ้องร้อง ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้นัดไต่สวนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคงหวาดหวั่นกันแน่

เมื่อ รฟม. ได้ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ “เกณฑ์ราคา” ในการประมูลรถไฟฟ้า “สายสีม่วงใต้” ครั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แล้วทำไมจะไม่ใช้ “เกณฑ์ราคา” ในการประมูลรถไฟฟ้า “สายสีส้มตะวันตก” ครั้งใหม่ด้วย?

สรุปก็คือ

  1. ดร.สามารถฯเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ รฟม. จะเปลี่ยนมาใช้ “เกณฑ์ราคา” ในการประมูลรถไฟฟ้า “สายสีม่วงใต้” ครั้งใหม่ อีกทั้ง การประมูลนี้เป็นการประกวดราคานานาชาติ หาก รฟม. ต้องการให้มีการแข่งขันกันอย่างกว้างขวาง รฟม. ควรเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาต่างชาติสามารถเข้าร่วมประมูลได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ รฟม. ประหยัดค่าก่อสร้างได้มากขึ้นด้วย ดังนั้น รฟม. ควรพิจารณาให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานในต่างประเทศมาอ้างเป็นผลงานของเขาได้ อย่าจำกัดให้ใช้เฉพาะผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น เพราะจะทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้น้อย
  2. ขอเรียกร้องให้ รฟม. พิจารณาใช้ “เกณฑ์ราคา” ในการประมูลรถไฟฟ้า “สายสีส้มตะวันตก” ครั้งใหม่ด้วย เพราะจะทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด