ส่องกระเป๋ารัฐฯเตรียมสู้โควิดระลอกใหม่!?!งบฯ6 แสนลบ.พร้อมทุ่มเยียวยากระตุ้นบริโภค กระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธภาพ

1882

โควิดกลับมาเขย่าขวัญคนไทยอีกแล้วสำหรับ วิกฤติระบาดระลอก 3 เป็นสายพันธุ์จากเมืองผู้ดี แพร่ผ่านผับดังย่านทองหล่อ ที่หลายฝ่ายมองว่าหนักหนาสาหัส รัฐมนตรี นักการเมือง คนเด่นคนดัง ติดเชื้อกันระนาว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ยังต้องเอามือกุมขมับ บอกว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิดและจะไม่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเหมือนสงกรานต์ปีที่แล้ว แต่ให้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ทุกจังหวัดพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงในพื้นที่

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ยกระดับมาตรการปิดสถานบันเทิงใน 41 จังหวัดเป็นระยะเวลา 14 วัน ขณะที่บางจังหวัดออกประกาศให้ผู้ที่มาจากจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง 5 จังหวัดต้องกักตัวตามมาตรการควบคุมโควิด-19

นอกจากมาตรการในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเกินความสามารถทางสาธารณสุข มาตรการทางเศรษฐกิจที่ภาครัฐกำลังจะออกมาในช่วงต่อจากนี้ก็มีความสำคัญเช่นกันในการประคอง และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว และช่วยให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจพอที่จะได้ประโยชน์จากชุดมาตรการที่จะทยอยออกมาในช่วงเดือน พ.ค.ไปจนถึงสิ้นปลายปี 2564 นี้ และที่สำคัญใครๆก็ห่วงว่า “เงินน่ะมีไหม?”

มาดูงบฯก้อนแรกจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ออกมาเพื่อใช้เยียวยาและฟื้นฟูการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรกนั้น ปัจจุบันใช้ไปแล้วประมาณ 501,844 ล้านบาทยังคงเหลือเม็ดเงินให้ใช้อีกประมาณ 498,156 ล้านบาท

ส่วนงบฯก้อนที่สองคืองบกลางฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งงบส่วนนี้อยู่ในอำนาจการอนุมัติของนายกรัฐมนตรี วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท โดยงบกลางในส่วนนี้มาจากงบกลางปกติ 9.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางที่กันออกมาสำหรับโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาใช้ไปราวๆ 1 พันล้านบาทเท่านั้

โดยสรุปแล้ว เมื่อรวมงบทั้งสองก้อนเข้าด้วยกันเท่ากับว่ารัฐบาลยังมีกระสุนเหลือสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 รอบใหม่นี้ราวๆ 6 แสนล้านบาท

ทีนี้มาประมวลชุดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ที่รัฐบาลได้เตรียมไว้ทั้งก่อนหน้านี้ และเตรียมใช้หลังจบระยะเวลาคือสิ้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้มีอะไรบ้าง?

1.มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการใช้จ่าย ประกอบไปด้วย 1)โครงการคนละครึ่งเฟส 3 วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเงื่อนไขโครงการจะเหมือนกับโครงการในเฟสที่ 1 และ 2 โดยเป็นการร่วมจ่ายระหว่างรัฐบาลกับผู้ที่ได้รับสิทธิ์เพื่อใช้จ่าย โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินให้วันละไม่เกิน 150 บาท ซึ่งที่ผ่านมาโครงการคนละครึ่งมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1.5 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิจำนวน 14,793,502 คน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาททั้งนี้จะมีการขยายสิทธิ์เพิ่ม และอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดและเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน และเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้ 

2) โครงการส่งเสริมให้คนที่มีเงินออมเอาเงินออกมาใช้จ่าย มาตรการนี้เป็นแนวความคิดของสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ที่เปิดเผยว่าในปีที่ผ่านมาคนไทยในกลุ่มที่มีรายได้สูงมีเงินออมมากขึ้นจากเดิมปี 2562 ระดับการออมโดยภาพรวม 3% แต่ปี 2563 สูงขึ้นเป็น 11% รัฐบาลจึงให้กระทรวงการคลังคิดมาตรการที่จะจูงใจให้คนกลุ่มนี้เอาเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

 3.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศประกอบไปด้วย

1)โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 โดยโครงการนี้ใช้วงเงินจากที่เหลือจากโครงการเดิม 5,700 ล้านบาท ขยายสิทธิ์ให้กับผู้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศอีก 2 ล้านสิทธิ์ รวมกับเดิมที่มีการอนุมัติในระยะที่ 1 และ 2 ไปแล้ว 6 ล้านสิทธิ์

ทั้งนี้มีการปรับปรุงเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกันบางส่วนให้เหมาะสมและป้องกันการทุจริตในโครงการ นอกจากนี้มีการปรับปรุงเงื่อนไขของการให้สิทธิ E-vouchers จากเดิมให้ 40 % ของการใช้จ่ายในวันธรรมดา 900 บาทและวันหยุด 600 บาท เป็นเหลือวันละ 600 บาทเท่ากันทั้งวันหยุดและวันธรรมดา โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในเดือน พ.ค.นี้

2)โครงการทัวร์เที่ยวไทย โครงการนี้ ครม.เห็นชอบวงเงินจากเงินกู้ฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยจะอนุมัติให้สิทธิ์กับผู้ที่ซื้อทัวร์ 3 วัน 2 คืน โดยเป็นทัวร์โปรแกรมที่ลงไว้กับเว็บไซด์ของ ททท. โดยโปรแกรมที่จะมีการอนุมัติและตรวจสอบรัฐบาลจะช่วยอุดหนุนสูงสุด ไม่เกิน 40% หรือ 5,000 บาทต่อราย ราคาทัวร์สูงสุดไม่เกิน 12,500 บาทต่อโปรแกรมทัวร์ซึ่งต้องเป็นโปรแกรมทัวร์ที่เดินทางในวันธรรมดาเท่านั้น และในการชำระเงินต้องผ่านโปรแกรมแอพเป๋าตังค์ ส่วนบริษัททัวร์ก็ต้องมีการโหลดแอพถุงเงินเพื่อรับเงินเพื่อเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

4.มาตรการช่วยเหลือข้าราชการผู้มีรายได้น้อย โดยโครงการนี้เป็นแนวคิดที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหามาตรการในการดูแลข้าราชการที่มีรายได้น้อย ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเคยแจ้งว่าจะมีโครงการ “เราผูกพัน”ออกมา แต่ท้ายที่สุดแล้วอาจออกมาเป็นในรูปแบบการช่วยเหลือค่าครองชีพ ซึ่งรอติดตามในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป

5.มาตรการกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานในท้องถิ่น โดยโครงการนี้มีวงเงินงบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่อนุมัติให้กับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่างๆจัดทำโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ และโครงการลงทุนขนาดเล็กในท้องถิ่นซึ่งเงินจำนวนนี้จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นช่วยเศรษฐกิจฐานรากได้อีกส่วนหนึ่ง เป็นการสร้างรายได้แก่ครัวเรือนนอกเหนือจากเยียวยา

ชุดมาตรการที่กล่าวมานี้รัฐบาลจะทยอยออกมาตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.2564 เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ต้องรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการบริโภค การท่องเที่ยว การส่งออก รวมทั้งการลงทุนและการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้  จะเห็นว่ามีทั้งแจกเพื่อเยียวยาและมีทั้งสร้างรายได้ และกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายทุกระดับ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบไม่เฉพาะกับไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก สะท้อนว่า ไวรัสโควิด-19 จะยังไม่จากโลกและประเทศเราไปง่ายๆ แต่ประเทศไทย จะรับมืออย่างไร แม้มีวัคซีนก็ยังประมาทไม่ได้  คนไทยต้องดูแลตนเองด้วยการ สวมหน้ากาก พกเจลล้างมือ เว้นระยะห่างและเตรียมฉีดวัคซีน ก็เท่ากับร่วมมือร่วมใจกันฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุด!