เรื่องการออม เป็นเรื่องสำคัญที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการออมหรือไม่- คนไทยเก็บออมบ้างหรือไม่เพียงไร? วันนี้คลอดแล้ว มาตรการที่สนับสนุนให้เกิดการออมแบบบังคับ เมื่อวานนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เรียกสั้นๆว่ากบช. เพื่อแรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้มีโอกาสส่งเงินสมทบเป็นขั้นบันได เริ่ม 3% สูงสุด 10% เมื่อถึงเวลาเกษียณ สามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นอีกทางเลือกให้แรงงานที่ไม่มีเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเงินออมอีกแบบยามเกษียณ
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)แล้ว และคาดว่าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี เพิ่มปีละล้านคน ในขณะที่ประชาชน ยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการวางแผนทางการเงินไว้ใช้หลังเกษียณเท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเมื่อเข้าถึงวัยสูงอายุ สามารถมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ และเป็นการสร้างวินัยการออมของประชาชนวัยทำงานด้วย
ที่ประชุมครม.จึงอนุมัติหลักการกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
- ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ คือ
1) จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ ทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ โดยรายได้ของ กบช. ไม่ต้องนำส่งคลัง
2) กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปี (ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ต้องเป็นสมาชิกของ กบช.
3) กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้าง ส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย แบ่งเป็น ปีที่ 1-3 ไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง, ปีที่ 4-6 ไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง, ปีที่ 7-9 ไม่น้อยกว่า 7 ของค่าจ้าง และปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่า 7-10% ของค่าจ้าง โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาทให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว หากลูกจ้างและนายจ้างต้องการส่งเพิ่ม สามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง
4) การรับเงินจาก กบช. เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จ หรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง เงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทน กรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จก็สามารถทำได้ เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
- ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในการกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน จนเกิดความซ้ำซ้อนทั้งการดำเนินงาน งบประมาณ และบุคลากร
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการจัดตั้ง กบช. จะทำให้รายได้รายเดือนของลูกจ้างลดลง และเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้นายจ้าง แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ลูกจ้าง ทำให้มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ ทำให้นายจ้างมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ลูกจ้าง และการออมภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งช่วยบรรเทาภาระงบประมาณการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุในอนาคต
นอกจากนี้ทางกระทรวงแรงงานยังจัดให้ทุนเรียนฟรี การันตีมีงานทำ โดย“ให้ทุน สร้างอาชีพ” เป็นหลักสูตรวิชาชีพการดูแลผู้สูงอายุ ระยะเวลาการฝึกอบรม 6 เดือน โดยความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ส่งเอกสารการสมัครได้ด้วยตนเองที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโครงการเก่าจะหมดเขตวันนี้แล้วคือ
โครงการ“คนละครึ่ง” ขอให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เร่งใช้จ่าย เพื่อจะได้ใช้วงเงินสิทธิ์ครบเต็มจำนวน ขณะนี้มีผู้ใช้สิทธิ์ครบ 3,500 บาท แล้ว 6.38 ล้านคน จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ 14.79 ล้านราย โดยมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรวม ณ 20 มี.ค. จำนวน 100,042 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายจากภาคประชาชน 51,214 ล้านบาท รัฐช่วยจ่าย 48,828 ล้านบาท สำหรับโครงการคนละครึ่งในเฟส 3 ทางกระทรวงการคลังแจ้งว่าอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ ซึ่งจะออกมาได้หลังจากที่โครงการ “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” สิ้นสุดในช่วงเดือน พ.ค. 2564
ในส่วนของจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์
-โครงการเราชนะ ขณะนี้มี 32.4 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1.53 แสนล้านบาท
–โครงการ ม.33 เรารักกัน มีผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว 7.4 ล้านคน เริ่มโอนเงินงวดแรก 1,000 บาท แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ เมื่อ 22 มี.ค.โอนเงินงวดสองผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” แล้วอีกจำนวน 1,000 บาท โดยภาพรวมการใช้จ่าย ม33เรารักกัน วันที่ 22-28 มี.ค.64 ใช้จ่ายสะสมแล้วจำนวน 4,603,989,005.52 บาท สำหรับกลุ่มทบทวนสิทธิและไม่มีสมาร์ทโฟนครบกำหนดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มี.ค.64 มีผู้ลงทะเบียนรวมจำนวนทั้งสิ้น 742,017 คน
ความจริงประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ตอนนั้นเรามีผู้สูงอายุ 10.4% และปี 2564 จะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” ตามหลักเกณฑ์ที่ว่า คือมี “คนแก่” อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ เป็นธรรมดาของชีวิตที่มีการเกิดแก่เจ็บตาย การเป็นสังคมสูงวัยมีความหมายอีกด้านว่า บริบูรณ์ด้วยประสบการณ์ มองเห็นโลกและเข้าใจโลกมากขึ้น และไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นเพราะทั้งโลกก็มีสภาพเข้าสู่สังคมสูงอายุเหมือนๆกัน!!