ศาลตีแสกหน้าสมศักดิ์ เจียมฯ ปั่นมั่วประชุมใหญ่ศาลฎีกาขัดแย้งปมประกันคดีม.112 ยันไร้ทะเลาะ-ให้ประกันยึดกม.ยุติธรรม

2897

จากกรณีในโลกโซเชียลฯ มีการแชร์ข้อมูลพาดพิงถึงการประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ระบุทำนองที่ประชุมศาลวุ่น ไม่ไว้วางใจประธานศาล ไม่ไว้ใจในกระบวนการยุติธรรมขณะนี้ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการประกันตัวคดีความผิดตาม ป.อาญา ม.112 นั้น

ต่อมาวานนี้ (30 มี.ค. 2564) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า การประชุมใหญ่ของศาลฎีกาจะมีวาระพิจารณาอยู่ 2 ประเภท คือ ภารกิจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการประชุมใหญ่ที่มีการกล่าวว่าเป็นการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น จะเป็นครั้งล่าสุด ที่มีการกำหนดวาระการประชุมไว้เพียง 2 วาระ คือ การพิจารณาคัดเลือกกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2564 ซึ่งถือเป็นภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการ

และอีกวาระ เป็นการพิจารณาข้อกฎหมายในคดีที่จะต้องอาศัยการลงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยมีผู้พิพากษาที่ปฏิบัติงานในศาลฎีกาเข้าประชุม จำนวน 245 คน ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้และเป็นการประชุมลับ ซึ่งไม่มีการพูดคุยหรือหารือกันเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด อีกทั้งในวันดังกล่าวได้มีการลงคะแนนลับของผู้พิพากษาในศาลฎีกาเพื่อเลือกกรรมการสรรหาฯ โดยไม่มีการลงมติในเรื่องอื่นใดอีกทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องราวตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อโซเชียล จึงไม่เป็นความจริง เป็นการบิดเบือนและให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ อันก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ศาลเป็นคู่กรณีกับฝ่ายต่าง ๆ

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่ปล่อยข่าวคือ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องการคดี 112 โดยวันที่ 29 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา บนเฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” โพสต์ว่า ข่าวกรอง

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่งพูดในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า เรื่องคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำม็อบ ยังไงก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีพฤติการณ์จะยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน จะไม่ให้ปล่อยตัวได้อย่างไร

ประธานศาลฎีกาตอบว่า “มีบุคคลภายนอกสั่งมาอีกที”

ผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกรายหนึ่ง ก็ตอบโต้ว่า “ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรตุลาการ ถ้าคนที่เป็นประธานศาลฎีกายังพูดได้ว่า มีบุคคลภายนอกสั่งมาอีกที แล้ว ต่อไป ศาลยุติธรรมคงดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ และถ้าประธานศาลฎีกาปล่อยให้บุคคลภายนอกมาสั่งบงการ ก็น่าจะมีการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตรวจสอบวินัยว่า คนแบบนี้ยังสมควรเป็นประธานศาลฎีกาอยู่อีกหรือไม่” เรื่องก็มีเพียงเท่านี้ ไม่มีการโหวตใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการชูสามนิ้ว