“ไผ่ ดาวดิน” จากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สู่นักโทษม.112 อีกครั้ง หลังเคยได้รับพระราชทานอภัยโทษคดีหมิ่นสถาบัน!?!

3065

“ไผ่ ดาวดิน” จากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สู่นักโทษม.112 อีกครั้ง หลังเคยได้รับพระราชทานอภัยโทษคดีหมิ่นสถาบัน!?!

จากกรณีที่พนักงานอัยการพิเศษคดีอาญา 7 นัดสั่งฟ้องศาลในคดีการชุมนุม “19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร” ด้วยข้อหามาตรา 112 รวมถึงข้อหามาตรา 116 และมาตรา 215 ทุกคน ทั้ง 3 คดี ได้แก่ มาตรา 112 มาตรา 116 และมาตรา 215 ที่พนักงานอัยการสั่งฟ้อง 18 แกนนำ พร้อมแนวร่วมคณะราษฎร โดยผู้ต้องหา 3 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาหลัก มาตรา 112 และ 116 ประกอบด้วย รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน, ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก

สำหรับ ไผ่ ดาวดิน ที่เมื่อวานนี้ (7 มีนาคม 2564)ได้จัดกิจกรรมเดินทะลุฟ้า จากจังหวัดนครราชสีมา มายัง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมระยะทาง​ 247.5​ กิโลเมตร​ ใช้เวลาเดิน​ 17​ วัน​ เดินมาถึงจุดหมายอนุสาวรีย์​ประชาธิปไตย​ เวลา​ 15​.25​ น.​ ซึ่งต้องบอกว่า เป็นอีกหนึ่งในแกนนำที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก สำหรับวันนี้ เราจะมาย้อนดูประวัติของ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งเป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคลื่อนไหวในนามกลุ่มดาวดิน และเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม คณะราษฎร 2563

สำหรับ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2534 เป็นชาวอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เติบโตในครอบครัวที่มีแม่ พริ้ม บุญภัทรรักษา เป็นทนายความ ส่วนพ่อ วิบูลย์ บุญภัทรรักษา ก็เป็นทนายความสายสิทธิมนุษยชน ร่วมทีมทองใบ ทองเปาว์

สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา “ไผ่ ดาวดิน” เคยเป็นนักดนตรีพื้นเมือง เล่นดนตรีได้หลายชนิด และเคยเข้าร่วมแข่งดนตรีจนได้รางวัลอันดับหนึ่งภาคอีสานทั้งรุ่นประชาชนและเยาวชน ไผ่ ถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวที่วิบูลย์ ทนายความหนุ่มจากกรุงเทพฯ มาปักหลักสร้างครอบครัวกับพริ้ม หญิงสาวชาวขอนแก่น ในภาคอีสาน ชื่อของ ไผ่ มาจากความชื่นชอบในพืชพื้นบ้านสารพัดประโยชน์ และเป็นสัญลักษณ์แทนบ้านเกิดของมารดาที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ไผ่มีน้องสาว 1 คนชื่อ พิณ ขณะที่กำลังศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 2 และมีคนรู้ว่า เขาเป็นลูกของวิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือทนายอู๊ด จึงถูกชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ ‘กลุ่มดาวดิน’ ลงพื้นที่ทำกิจกรรม รับรู้ความเดือดร้อนของชาวบ้าน สำนึกการต่อสู้เพื่อส่วนรวมจึงตื่นขึ้น พัฒนา และหล่อหลอม จนกลายเป็นตัวตนของชายที่ชื่อไผ่ อย่างทุกวันนี้

หลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารมาบริหารประเทศ แน่นอนว่าหลายคนดีใจที่ความขัดแย้งยุติลง แต่หลายคนไม่พอใจสิ่งที่เกิดขึ้น บางส่วนลุกขึ้นส่งสัญญาณต่อต้านในที่สาธารณะ ซึ่งไผ่คือหนึ่งในนั้น เหตุการณ์ที่เป็นภาพจำคือ เขาและเพื่อนกลุ่มดาวดินแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านการ ชูสามนิ้ว ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะกล่าวบนเวทีที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557

ด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลานั้น ไผ่-เด็กหนุ่มจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องมีหลายคดีติดตัว ต้องติดคุกมาแล้วหลายครั้ง ทั้งคดีการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารกับเพื่อนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน (ติดคุก 12 วันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ) คดีการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (ติดคุก 12 วันที่เรือนจำภูเขียว) และคดีการชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร (ติดคุก 5 วันที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น)

ต่อมาเมื่อ ปลายปี 2559 ไผ่ได้กดแชร์ข่าวจากเฟซบุ๊กของสำนักข่าวบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 เป็นบทความที่มีคนแชร์มากกว่าสองพันคน อัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี ต่อมาก็ได้รับสารภาพ โทษจึงลดเหลือกึ่งหนึ่ง คือ 2 ปี 6 เดือน และด้วยการอภัยโทษในช่วงท้ายเล็กน้อย รวมแล้วเขาอยู่ในเรือนจำทั้งหมด 870 วัน

หลังจากพ้นโทษ ไผ่ ดาวดิน ให้สัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ของผู้ต้องขังกว่า 100 คน พร้อมกันในชุดเสื้อยืดสีเหลือง

“ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อน้อมถวายเป็นปฏิบัติบูชาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมหากรุณาธิคุณอันประเสริฐตลอดไป”

 

ตามด้วยเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ในรุ่งอรุณของวันที่พวกเขาจะได้รับอิสรภาพ หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) อภัยโทษ พ.ศ. 2562 ที่ตราขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

อีกทั้ง ไผ่ ดาวดิน ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อระดับชาติ  เป็นเจ้าของรางวัลสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ โดยได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 จัดโดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ประเทศเกาหลีใต้ ถือเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับรางวัลนี้ต่อจาก นางอังคณา นีละไพจิตร ที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2549 และเป็นรางวัลเดียวกับที่นางอองซาน ซูจีเคยได้รับ

ล่าสุดวันนี้ ไผ่ ดาวดิน และแกนนำกลุ่มราษฎร ได้เดินทางมารับฟังคำสั่งในคดีที่ตกเป็นผู้ต้องหาในการชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อวันที่ 19 – 20 ก.ย.63 หลังจากเลื่อนการนัดฟังคำสั่งมาจากวันที่ 17 ก.พ.64 โดยอัยการระบุว่า จะมีคำสั่งฟ้องคดีทั้งหมดและยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทันที ซึ่งมีคำสั่งฟ้อง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 และไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว

ทั้งนี้ ไผ่ ดาวดิน ได้ชวนผู้ชุมนุมที่เดินทางมาให้กำลังใจ นั่งสงบนิ่งกลางแดด 15 นาที พร้อมกล่าวว่า ขอให้ทุกคนลองหลับตานึกถึงวันแรกที่เราตัดสินใจก้าวเดิน ทำสิ่งที่มันเหนื่อย เดินจากโคราช 247.5 กม. ระหว่างทางเดิน พวกเราเหนื่อย บ้างท้อแท้ มีคนมาร่วมเดินกับเรา แต่ก็มีคนที่ต้องอยู่ในเรือนจำ ทำให้พวกเราต้องออกมา

นายจตุภัทร์ กล่าวว่า จากนี้ไม่ว่าพวกเราจะอยู่ข้างในหรือข้างนอก กระบวนการต่อสู้ได้เกิดขึ้นแล้ว ขอให้พวกเราสงบนิ่ง การต่อสู้ครั้งนี้เป็นของพวกเราทุกคนที่เป็นมนุษย์ มีหลายคนที่ต้องถูกโดดเดี่ยว เรามองดูผู้คนต่างๆ ไม่ใช่แค่ไผ่หรือไมค์ มีอีกหลายคนที่ต้องเดือดร้อน อยากให้ทุกคนสู้ต่อ ไม่ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะสู้กันต่อไป