ไขข้อสงสัยตัดสิทธิ-ไม่ตัดสิทธิทางการเมืองแกนนำ กปปส. เทียบธนาธร 10 ปี

2151

จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังทราบข่าวที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก รัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากเหตุการณ์การชุมนุมของ กปปส. ว่า เมื่อศาลมีคำตัดสินจำคุกผู้เป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) จะหลุดจากตำแหน่งทันที ตั้งแต่มีคำพิพากษา

โดย นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เป็นธรรมดาที่ทราบกันอยู่แล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัด ในเรื่องของการพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวตามตรา 170 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะต้องโยงกับกฎหมายหลายมาตรา โดยม.170(4) ความเป็นระบุว่าความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงตามเป็นการเฉพาะตัว เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160(7) ที่ระบุถึง การต้องคำพิพากษาให้จำคุก ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้จำคุก ไม่ว่าจะถึงที่สุดหรือไม่แต่รัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงอย่างชัดเจน

ส่วนกรณีคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 101(13) โดยปกติหากศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด ให้จำคุก ก็จะยังไม่พ้น แต่จะมีเหตุอื่นเข้ามา เช่นศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ก็จะโยงไปถึงการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมาตรา 96(2) ที่ระบุว่าหากเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ ก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ส่วนบุคคลที่ศาลไม่ได้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง โดยหลักแล้วการจำคุกก็ยังไม่ถึงที่สุด สิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ถูกเพิกถอนจึงยังไม่พ้นจากความเป็นส.ส. แต่ก็มีเหตุอื่นแทรกเข้ามาอีกว่า หากถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และมีหมายของศาลให้จำคุกกรณี เช่นนั้นก็จะพ้นด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด นาย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า… โทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง หลายคนสงสัยว่า ทำไม คำพิพากษาของศาลอาญา จึงมีบางคนถูกตัดสิทธิทางการเมือง และบางคนไม่ถูกตัดสิทธิและทำไมถูกตัดสิทธิแค่ 5 ปี ทีธนาธรยัง 10 ปีเลย

ขอเล่าให้ฟังว่า ข้อกล่าวหาที่กลุ่มคุณสุเทพโดน เป็นทั้งความผิดตามกม.อาญา และ ความผิดตาม พรป.ส.ส./ส.ว. ปี 2550 ซึ่งเฉพาะความผิดใน พรป. ส.ส. เท่านั้นที่มีโทษตัดสิทธิทางการเมือง มาตรา 76 ของ พรป.ส.ส. ปี 2550 (ไม่ใช้ฉบับปัจจุบันปี 2561 เนื่องจากเป็นความผิดในปี 2557) ระบุว่า ใครขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวคนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องระวางโทษตามมาตรา 152 คือ จำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี

ดังนั้นคนที่ถูกฟ้องตาม พรป.ส.ส.เท่านั้นที่จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้งซึ่งหมายถึงสิทธิทางการเมืองอื่น ๆ ด้วย เป็นเวลาห้าปี ซึ่งถือว่าเป็นโทษในขณะนั้น ปัจจุบันความผิดแบบนี้ คือ มาตรา 100 ของพรป.ส.ส.ฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีมีการปรับโทษใหม่ตามมาตรา 164 โดยเพิ่มเป็นเพิกถอนสิทธิ 10 ปี

คดีการขัดขวางคนไปใช้สิทธิ กกต.ในยุคนั้นยังได้ขอให้ กกต.จังหวัด ฟ้องในทุกจังหวัดที่มีการกระทำดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลน่าจะได้ตัดสินไปหมดก่อนหน้านี้แล้ว คดี กปปส.คงเป็นบทเรียนว่า ท่านชุมนุมได้เป็นเสรีภาพ แต่ท่านทำผิดกฎหมายไม่ได้ การได้รับโทษทัณฑ์ดังกล่าว ศาลได้ตัดสินตามข้อเท็จจริงที่อัยการนำเสนอ แม้จะล่าช้ากว่า 7 ปีก็ตาม
ยังอุทธรณ์ได้ แต่สำหรับผู้มีตำแหน่งทางการเมือง เมื่อถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้วถือว่าต้องถือว่าจบครับ