นี่คือเหตุผลทำไมนักการเมืองพล่านแก้รธน. ความเป็นรมต.-ส.ส.หลุดแล้วหลุดเลย แม้สุดท้ายคดีศาลฎีกายกฟ้องก็ไม่มีผลย้อนหลัง

1559

จากที่วานนี้ (24 ก.พ. 2564) ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดี กลุ่มกปปส. ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.กับพวกรวม 39 คน เป็นจำเลยความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยยื่นสำนวนฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก นายสุเทพ 5 ปี และพวกรวม 26 คน โดยมีโทษจำคุกแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 9 ปี 24 เดือน ส่วนข้อหาความผิดฐานกบฎและก่อการร้ายยกฟ้อง เพราะพฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใด เพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงไม่เป็นความผิดตามฐานดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นพิพากษาจำคุก นั้น

ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังทราบข่าวที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก รัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากเหตุการณ์การชุมนุมของ กปปส. ว่า เมื่อศาลมีคำตัดสินจำคุกผู้เป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7) จะหลุดจากตำแหน่งทันที ตั้งแต่มีคำพิพากษา

ล่าสุดวันนี้ (25 ก.พ. 2564) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีศาลอาญาพิพากษา จำคุกบุคคลที่เป็นรัฐมนตรี จึงต้องหลุดจากตำแหน่งทันทีใช่หรือไม่ ว่า เป็นธรรมดาที่ทราบกันอยู่แล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัด ในเรื่องของการพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวตามตรา 170 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะต้องโยงกับกฎหมายหลายมาตรา โดยม.170(4) ความเป็นระบุว่าความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงตามเป็นการเฉพาะตัว เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160(7) ที่ระบุถึง การต้องคำพิพากษาให้จำคุก ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้จำคุก ไม่ว่าจะถึงที่สุดหรือไม่แต่รัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงอย่างชัดเจน

ส่วนกรณีคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 101(13) โดยปกติหากศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด ให้จำคุก ก็จะยังไม่พ้น แต่จะมีเหตุอื่นเข้ามา เช่นศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ก็จะโยงไปถึงการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมาตรา 96(2) ที่ระบุว่าหากเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ ก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ส่วนบุคคลที่ศาลไม่ได้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง โดยหลักแล้วการจำคุกก็ยังไม่ถึงที่สุด สิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ถูกเพิกถอนจึงยังไม่พ้นจากความเป็นส.ส. แต่ก็มีเหตุอื่นแทรกเข้ามาอีกว่า หากถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และมีหมายของศาลให้จำคุกกรณี เช่นนั้นก็จะพ้นด้วย แต่ตนไม่ทราบว่าใครเข้าข่ายดังกล่าวบ้าง

ส่วนกรณี ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องเลื่อนขึ้นมาตามลำดับ ซึ่งการเลื่อนช้าหรือเร็วนั้นจะมีผลต่อการประชุมสภาฯ เนื่องจากสภากำลังจะปิดสมัยประชุมและถ้าเลื่อนเร็ว ก็เข้ามาทำหน้าที่ได้เร็ว อย่างน้อยถ้าเปิดสมัยวิสามัญขึ้นมาพิจารณา รัฐธรรมนูญก็จะได้ทำหน้าที่ได้ แต่ถ้ายังไม่เลื่อนขึ้นมา ก็ยังไม่ถือเป็น ส.ส. ส่วน ส.ส. เขตก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ หากกกต. สงสัยก็จะเหมือนกรณีของนายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเลือกตั้งเขตจะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ทั้งนี้กรณีของนายเทพไทก็ถือเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว

สำหรับกรณีตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อว่างลงจำเป็นจะต้องรีบแต่งตั้งใหม่หรือนั้น นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ยากอะไรเนื่องจาก รมว.ศึกษาธิการ มีรมช.อยู่ 2 คน ซึ่งครม. เคยมีมติไปแล้วว่าหากรัฐมนตรีว่าการไม่อยู่ ก็ให้รัฐมนตรีช่วยมารักษาการตามลำดับ ซึ่งกรณีนี้คือคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นมารักษาการ

ส่วนกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครม. เคยมีมติในเมื่อกระทรวงนี้ไม่มีรัฐมนตรีช่วย ก็ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการแทนเป็นอันดับแรก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรักษาการเป็นอันดับสอง ซึ่งในกรณีนี้รมว. วัฒนธรรมจะเป็นผู้รักษาการ จนกว่าเมื่อมีการประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วนายกรัฐมนตรีอาจจะสั่งการเป็นอย่างอื่นได้

ทั้งนี้ เมื่อถูกถามว่าเอกสิทธิ์ของผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมสภา จะสามารถคุ้มครองผู้ที่เป็นส.ส.ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวอีกว่า อย่าใช้ คำว่าเอกสิทธิ์ เนื่องจากมีเรื่องของเอกสิทธิ์ กับ ความคุ้มกัน คำว่าเอกสิทธิ์หมายถึงการพูดในสภาแล้วไม่ผิด คือเฉพาะ เรื่องการพูดเรื่องเดียวแต่ถ้าเป็นเหตุชกกัน ก็ไม่มีเอกสิทธิ์ ส่วน ความคุ้มกันหมายความว่า ในสมัยประชุมจะนำตัวไปดำเนินคดีอะไรไม่ได้ ถ้าปิดสมัยประชุมทำได้ ซึ่งความคุ้มกัน มีกระบวนการ ไม่ได้มาโดยอัตโนมัติ

เมื่อถามว่ากรณีที่ถูกจำคุก แล้วยังจะสามารถขอความคุ้มกันได้อยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้

เมื่อถามว่าการที่ผู้ถูกเข้าเรือนจำแล้ว จะถือว่าสิ้นสภาพความเป็นส.ส. เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เพียงเท่านั้นยังไม่ เพราะยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และยังไม่ได้ถูกจำคุกโดยหมายของศาล

ส่วนคนที่เป็นส.ส. แล้วเข้าเรือนจำ ยังไม่ถือว่าสิ้นสภาพการเป็นส.ส. ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตน ไม่แน่ใจว่าเป็นการถูกจำคุกโดยหมายของศาลหรือไม่ เพราะอาจเป็นการควบคุมตัวธรรมดา หากเขาอ้างความคุ้มกันขึ้นมาก็ต้องปล่อยตัว เพราะถือว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการอุทธรณ์ เมื่อถามย้ำว่าหากเป็นการเข้าเรือนจำโดยหมายของศาล การคุ้มครองในฐานะของส.ส. ก็จะหมดไปเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่

สำหรับกรณีของนางทยา ทีปสุวรรณ ที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญาในขณะที่มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี หากสุดท้ายศาลพิพากษาแก้ประเด็นการตัดสิทธิทางการเมือง นางทยาจะกลับมามีสิทธิทางการเมืองอีกได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ แต่ในขณะนี้กว่าถือว่าถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำตัดสินเป็นอย่างอื่น

เมื่อถามว่าในกรณีที่คนเป็นส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเช่นกัน จะสามารถอุทธรณ์ในประเด็นถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การเป็นส.ส.ขาดแล้วก็ขาดไป แต่เรื่องสิทธิทางการเมืองถ้าศาลพิพากษาว่าไม่เพิกถอนสิทธิทางการเมืองก็จะกลับมา นี่คือความรุนแรงของรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

แม้จะยื่นอุทรณ์แล้วสิทธิกลับมา แต่ไม่สามารถคืนสภาพส.ส.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าใช่ แม้กระทั่งรัฐมนตรีก็เช่นกัน ถูกจำคุกแต่ไม่ถึงที่สุดก็พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ถ้าต่อมาศาลยกฟ้อง ไม่จำคุก ก็แปลว่าไม่จำคุกเท่านั้นแต่ความเป็นรัฐมนตรีจะ ไม่กลับมา นี่คือยาแรงของรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายกับคำถามที่ว่าหากในอนาคต บุคคลเหล่านี้จะกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ เพราะต้องดูต่อไปว่า เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ บุคคลเหล่านั้นจะมีสิทธิ์หรือไม่ เช่น กรณีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หากศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินว่าไม่ตัดสิทธิเลือกตั้ง ความเป็นส.ส. สิ้นสุดลงเวลานี้แต่สามารถสมัครในคราวหน้าได้