“ทยา” ฝันสลายลงชิงผู้ว่ากทม. หลังโดนตัดสิทธิทางการเมือง 5ปีคดีกปปส.

2846

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กรณีศาลพิพากษาจำคุกแกนนำกปปส.หลายคน จากกรณีการขัดขวางการเลือกตั้ง ชุมนุมทางการเมืองปิดสถานที่ราชการและอื่นๆ

จนส่งผลกระทบให้รัฐมนตรีในรัฐบาลต้องหลุดจากตำแหน่งสามคน โดยศาลตัดสิทธิทางการเมืองอีกหลายคน

โดยศาลใช้เวลาอ่านคำพิพาษา 6 ชม. อ่านคดีกบฏ กปปส. ชุดใหญ่สำนวนหลัก หมายเลขดำ อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม กปปส. รวม 39 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ

ซึ่งหนึ่งในจำเลยทั้ง 39 รายนั้น คือ นางทยา ทีปสุวรรณ จำคุก1ปี8เดือนปรับ 26,666 รอลงอาญา 2ปี และศาลยังพิพากษาให้ให้ตัดสิทธิทางการเมือง โดยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 5 ปี

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เคยการเสนอชื่อ นางทยา ให้ ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่เกิดความขัดแย้งภายในพรรค

เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐนั้น สนับสนุน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร. ลงชิงผู้ว่ากทม.

ทั้งนี้ การที่ศาลพิพากษาให้ตัดสิทธิทางการเมือง โดยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนางทยา จะทำให้นางทยา หมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ทันทีหรือไม่

ทั้งนี้ล่าสุด ผู้สื่อข่าวถาม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า สำหรับกรณีของนางทยา ทีปสุวรรณ ที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญา ในขณะที่มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี หากสุดท้ายศาลพิพากษาแก้ประเด็นการตัดสิทธิทางการเมือง นางทยา จะกลับมามีสิทธิทางการเมืองอีกได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ แต่ในขณะนี้ กว่าถือว่าถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำตัดสินเป็นอย่างอื่น

สำหรับ นางทยา ทีปสุวรรณ เป็นภรรยาของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และเคยเป็นแกนนำ ม็อบ กปปส. โดยนายณัฏฐพล ผันตัวเองเข้าสู่วงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรก ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม ปี 2550 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 4 ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ต่อมาในการเลือกตั้งซ่อม ปี 2552 นายณัฏฐพล ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งและได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 10 (ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ จอมทอง บางขุนเทียน บางบอน) ได้รับคะแนนมากกว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

เช่นเดียวกับ เมื่อปี 2554 ลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 26 (ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ) ก็ได้คะแนน 46,910 คะแนน เอาชนะ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

11 พฤศจิกายน ปี 2557 นายณัฏฐพล ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเข้าเป็นแกนนำการชุมนุมคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม ร่วมกับนายชุมพล จุลใส, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และนายสกลธี ภัททิยกุล ซึ่งภายหลัง ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา

ซึ่งนายณัฏฐพลและพวกก็ต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม โดยศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราวถัดมา 29 กันยายน ปี 2561 นายณัฏฐพลได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก่อนจะได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรค และเมื่อปี 2562 นายณัฏฐพลเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ ก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน