ก.พาณิชย์และEIC ประเมินส่งออกไทยฟื้นแกร่ง!?! ทั้งปีขยายได้ 6-8% ได้วัคซีนและเศรษฐกิจโลกหนุนสินค้าไทยฉลุย

1617

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีการขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่อง ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ และการเมืองร้อนใกล้บ้านในเมียนมา ทั้งสนค.และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเอกชน ประเมินสอดคล้องกันว่า จากปัจจัยหนุนที่ไทยได้รับวัคซีนแล้ว และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ส่งผลตลอด 2 เดือนนี้ส่งออกได้ดีต่อเนื่อง คาดทั้งปี ส่งออกไทยโตได้ถึง 6-8% สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้แค่ 4%

วันที่ 24 ก.พ.2564 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,706 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.35% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งยังเป็นการขยายตัวที่มีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 18,319 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ถือเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นับจากเดือนธันวาคม 2563 ที่เพิ่มขึ้น 4.71% การส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจากปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมไปถึงการมีวัคซีนโควิด-19 เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นกลับมาเร็ว

ขณะที่ การนำเข้าเดือนมกราคม 2564ของไทยมีมูลค่า 19,908 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.24% เป็นผลมาจากมูลค่าสินค้าที่นำเข้ามาสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีการค้าขาดดุล 202 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี ทิศทางการส่งออกในปีนี้มองว่าเป็นบวกที่ 4% มูลค่าเฉลี่ยส่งออกต่อเดือนประมาณ 20,093 ล้านเหรียญสหรัฐ จากความต้องการสินค้ายังเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันเริ่มขยายตัว มาตรการกระจายวัคซีนประกอบกับมาตรการส่งเสริมการส่งออกของไทย

พร้อมคาดการณ์ว่า การส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัวอยู่ที่ 3-5% การส่งออกครึ่งปีหลังคาดว่าอยู่ที่ 3-4% ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังมาจากปัญหาโควิด-19 การขนส่ง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังคงเป็น สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และไต้หวั่น โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว3.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง

สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 345.1% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว50.5% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ผักผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว31.7% ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 38.5% ขยายตัว 17 เดือนต่อเนื่อง ยางพารา ขยายตัว 1.5% ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง

สำหรับสินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัว 48.1% หดตัว 10 เดือนต่อเนื่อง ข้าว หดตัว 15.9% หดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัว 7.9% หดตัว 7 เดือนต่อเนื่อง อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัว 0.8% หดตัว 6 เดือนต่อเนื่อง

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ถุงมือยาง ขยายตัว 200.5% ขยายตัว14 เดือนต่อเนื่อง รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 25.7% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง

เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 17.4% ขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัว 90.3% หดตัว 5 เดือนต่อเนื่อง เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัว 8.2% หดตัว 16 เดือนต่อเนื่อง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ กลับมาหดตัว 5.2% ในรอบ 3 เดือน

ในส่วนของภาคเอกชน ก็มองเห็นสอดคล้องกันคือ

ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุ EIC ประเมินส่งออกฟื้นตัวแข็งแกร่ง ทำให้คาดว่าทั้งปี 2021 มูลค่าส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในช่วง 6-8% มากกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4%     

ด้านการส่งออกรายสินค้า พบว่าสินค้าส่งออกสำคัญของไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม      

การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 9.6%จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากขยายตัว 10.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (50.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน) สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง (38.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน) และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (77.9%จากช่วงเดียวกันปีก่อน) อย่างไรก็ดี การส่งออกข้าวยังหดตัวที่ -15.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาข้าวไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น และคุณภาพข้าวที่ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง