ผอ.สถาบันวัคซีนสุดทน! ลูกสมพรนำโยงสถาบัน ซัดมั่วมาก เปิดความจริงตอกหน้า

4586

จากที่เมื่อวันที่18 มกราคม 2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ออกมาไลฟ์สดทางเพจคณะก้าวหน้าในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ” พูดถึงการจัดหาและผลิตวัคซีนโควิดในประเทศไทยก่อนที่จะพาดพิงสถาบันโดยอ้างถึงการถือหุ้นบริษัทผลิตวัคซีน???

โดยนายธนาธร ได้พูดในหลายประเด็น บางครั้งตั้งเป็นคำถามในลักษณะโจมตีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และที่สำคัญพาดพิงกระทบไปถึงสถาบัน ซึ่งมีเนื้อหาบางช่วงระบุว่า บริษัทเดียวที่ไทยฝากความหวังไว้ก็คือ AstraZeneca ซึ่งมีการจ้างบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยก็คือ Siam Bioscience ไม่มีการเจรจากับบริษัทอื่นเพิ่ม จนเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา จึงมีการประกาศว่าได้มีการเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มกับ Sinovac ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก คือ 2 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชากร 1.5% เท่านั้น มีการฝากอนาคตของชาติไว้กับบริษัทรายเดียว

ทั้งนี้นายธนาธร ได้กล่าวถึงไทม์ไลน์และโครงสร้างการบริหารจัดซื้อวัคซีนที่รัฐบาลไทยดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้วางการจัดหาวัคซีนสนับสนุนแบ่งเป็นสองทาง นั่นคือ 1) การซื้อจากต่างประเทศ และ 2) การผลิตเองในประเทศ โดยในส่วนของการซื้อจากต่างประเทศ ตอนนี้มีการเซ็นสัญญาไปแล้วสองบริษัท ก็คือ AstraZeneca 26 ล้านโดส และ Sinovac 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่ม CP เข้าไปถือหุ้นอยู่ 15.03%

“กรณีที่สำคัญก็คือกรณีของบริษัท AstraZeneca เพราะมีปริมาณการสั่งซื้อมาก มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า ในการเซ็นสัญญาขายวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย เงื่อนไขหนึ่งในสัญญาก็คือการที่ AstraZeneca ทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing Organization – CMO) กับบริษัท Siam Bioscience ที่มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นอยู่ 100% โดยมีบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย SCG สนับสนุนการดำเนินงานเซ็นสัญญา โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว Siam Bioscience จะต้องจัดให้มีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี โดย 174 ล้านโดสจะส่งไปขายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีก 26 ล้านโดส ขายในประเทศไทย” นายธนาธร ระบุ

ล่าสุดวันนี้19 มกราคม 2564 นายแพทย์ นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดโจมตีการจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาล  และยังได้พาดพิงไปถึงในหลวงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยนั้น

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่าการบิดเบือนเป็นวัคซีนพระราชทานว่าการจัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองล่วงหน้า ได้ใช้ข้อมูลหลายองค์ประกอบ ต้องพิจารณาข้อมูลรูปแบบของวัคซีนที่ได้มีการพัฒนาอยู่ ไม่ได้พิจารณาตามชื่อของบริษัท หรือ ตามตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว อย่างกรณี บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ไม่ใช่การจองซื้อโดยทั่วไป แต่เป็นการจองซื้อที่มีข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ประเทศไทยด้วย ซึ่งผู้ที่มีศักยภาพคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่มีความพร้อมที่สุดในด้านการผลิตและบุคลากร

นอกจากนี้ นพ.นคร ยังกล่าวอีกว่า ในสัญญาผูกพันที่รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนบริษัทสยามไปโอไซเอนซ์จำนวน 600 ล้านบาทไปแล้วนั้น เมื่อสามารถผลิตวัคซีนได้แล้วตามมาตรฐานของแอสตร้าเซนเซก้า แล้วทางบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ก็จะคืนวัคซีนในจำนวนเท่ากับมูลค่าที่รัฐบาลสนับสนุน

“ราคาวัคซีนที่จัดหาล่วงหน้าเป็นราคาที่ถูกที่สุดในตลาด และสะท้อนต้นทุน ข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอย และคลาดเคลื่อนควรจะหมดไป และไม่ควรจะไปโยงกับเรื่องของการทำงานของสถาบันที่พวกเราเคารพรัก” นพ.นคร กล่าว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นพ.นคร ได้กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนมาใช้ มีทั้งซื้อมาตรงๆ กับรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต อีกด้านคือสนับสนุนงานวิจัยภายในประเทศ และแม้จะมีวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลานานพอสมควรในการควบคุมการระบาด โดยในปี 2564 ต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ 50% ของประชากร หรือราวๆ 33 ล้านคน โดยวิธีการจองซื้อจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพ ส่วนงานวิจัยภายในประเทศ ยังไม่น่าจะมีวัคซีนที่จะนำมาใช้ได้ในปีหน้า

สำหรับวัคซีนที่ไทยจองไปแล้ว จากบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า โดยจำนวนที่ต้องการยังขาดอีก 30%  ซึ่งเป้าหมายของการฉีดวัคซีนอีกด้านหนึ่ง คือความครอบคลุมในการรับวัคซีน ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องได้รับวัคซีน แต่ถ้าคนจำนวนมากพอสมควรได้รับวัคซีนแล้ว ก็จะช่วยป้องกันคนที่ไม่ได้รับวัคซีนไปด้วย เช่น ฉีดวัคซีนไปประมาณ 80% ของประชากร คนที่ไม่ได้รับวัคซีนก็จะได้รับความคุ้มกันไปด้วย ถ้ามีภูมิคุ้มกันสัก 70% สำหรับโควิด-19 ก็จะป้องกันคนอื่นๆ ได้ด้วย