“ไทย(ไม่เคย)สมายล์” ปิดฉากลงเพราะขาดทุนตลอด 7 ปี บทเรียนบริหารผิดพลาดที่ การบินไทยต้องไม่เดินซ้ำรอย

4300

ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ทำอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกดิ่งเหวอย่างไม่คาดคิดมากอ่น สายการบินแห่งชาติ-บมจ.การบินไทยก็ไม่เว้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู และจะต้องเสนอแผนฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายกลาง จึงต้องปรับโครงสร้างธุรกิจบริษัท เพราะการบริหารงานที่ผ่านมาเกิดข้อผิดพลาดและเกิดช่องโหว่ในการบริหาร การยุบหรือควบรวมสายการบินไทยสมายล์จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จำเป็น เพื่อแก้จุดอ่อนการขาดทุนต่อเนืองมา 7 ปี

ในที่สุด ‘ไทยสมายล์” ก็มาถึงวันนี้-ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

เมื่อบมจ.การบินไทย เข้าแผนฟื้นฟูฯ และจะต้องยื่นแผนต่อศาลล้มละลายกลาง ได้ตัดสินใจควบรวมสายการบินไทยสมายส์ ด้วยเหตุผลแบกต่อไม่ไหว เนื่องจากขาดทุนต่อเนื่อง 7 ปีจำนวนหมื่นล้านบาท   การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินอย่างรุนแรงทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ที่ผ่านมาการบินไทยกำหนดทำการบินระหว่างประเทศเป็นหลัก และเมื่อไม่สามารถทำการบินระหว่างประเทศได้จึงกระทบกับผลดำเนินงานมาก ดังนั้น ต่อไปการบินไทยจำเป็นจะต้องพิจารณาทำการบินในประเทศมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการการบินไทย กล่าวว่า “ผมเห็นด้วยกับการควบรวม เพราะการบินไทยถือหุ้นในไทยสมายล์ 100% แต่ที่ผ่านมามีการแยกบริหารและแยกคณะกรรมการบริษัท ทำให้การบินไทยเข้าไปควบคุมการบินไทยไม่ได้  รวมทั้งมีการนำผลขาดทุนของไทยสมายล์มารวมกับการบินไทย ดังนั้นเมื่อการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจึ งไม่สามารถแบกรับภาระของผู้อื่นได้” 

การบินไทยได้ประเมินผลประกอบการไทยสมายล์แอร์เวย์งวด 6 เดือน สิ้นสุด มิ.ย.2563 ขาดทุนสะสม 10,305 ล้านบาท โดยประเมินว่าโควิดทำให้มีข้อบ่งชี้ที่อาจเกิดการด้อยค่าของเงินลงทุนในไทยสมายล์แอร์เวย์ รวมทั้งคาดว่าจะได้รับคืนของเงินลงทุนต่ำกว่ามูลค่าบัญชี และได้พิจารณาตั้งค่าเผื่อด้อยค่าของเงินลงทุนทั้งจำนวน

ทั้งนี้ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ตั้งเมื่อ 17 ต.ค.2556 ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท การบินไทยถือหุ้น 100% โดยเริ่มทำการบินวันที่ 10 เม.ย.2557 ใช้รหัสสายการบิน WE เริ่มขาดทุนมาตลอดในช่วง7 ปี

 กรณีศึกษา-แนวคิด, จุดแข็ง, จุดอ่อนการวางตำแหน่งทางการตลาด

  1. วางตำแหน่งทางธุรกิจของตนไม่สอดคล้องลูกค้า -ในตอนก่อตั้งนั้น บกท.จัดตั้งไทยสมายล์โดยตั้งเป้าที่จะให้บริการกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างสายการบินปกติและสายการบินต้นทุนต่ำ จึงจัดวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่มีคุณภาพสูง  ไทยสมายล์จึงต้องให้บริการที่เหนือกว่าสายการบินต้นทุนต่ำ  ซึ่งทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการของไทยสมายล์สูงขึ้น ดังนั้นค่าโดยสารจะต้องสูงกว่าค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ในความเป็นจริงที่มีสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการจำนวนมาก มีการแข่งขันกันดุเดือด ส่งผลให้ไทยสมายล์ต้องกัดฟันสู้ด้วยกลยุทธ์ด้านราคา แต่สุดท้ายกลับขาดทุนทุกปี 

ไทยสมายล์วางตำแหน่งตัวเองเป็นสายการบินพรีเมียม โลว์คอสต์ ตั๋วแพงกว่าโลว์คอสต์ ให้บริการมากกว่าโลว์คอสต์ เช่น ให้ผู้โดยสารโหลดสัมภาระ 20 กิโลกรัม โดยไม่คิดค่าบริการ แต่การที่ต้องลดราคาตั๋วเพื่อแข่งขันกับโลว์คอสต์ ก็แสดงว่า ไม่สามารถรักษาความเป็นพรีเมียม โลว์คอสต์ ซึ่งมีอยู่สายการบินเดียวได้ หรืออีกทางหนึ่ง ในตลาดสายการบินมีสายการบินอยู่ 2 ประเภทเท่านั้นคือ สายการบินพรีเมียม กับสายการบินโลว์คอสต์ ไม่มีสายการบินแบบพรีเมียม โลว์คอสต์ เป็นตลาดที่การบินไทยคิดขึ้นมาเอง

สรุปขาดทุนต่อเนื่องเพราะวางตำแหน่งทางการตลาดของตนเองผิด ไม่สอดคล้องความเป็นจริง การวางตำแหน่งตัวเองเป็นสายการบินพรีเมียม โลว์คอสต์ ทำให้ไทยสมายล์มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการบริการแบบพรีเมียม แต่ต้องขายตั๋วในราคาแบบโลว์คอสต์จะไม่ให้ขาดทุนได้อย่างไร

  1. โครงสร้างธุรกิจมีความซ้ำซ้อน สายการบินโลว์คอสต์ของการบินไทยนั้น มีนกแอร์ซึ่งเป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแข่งกับไทยแอร์เอเชีย แต่การบินไทยคุมนกแอร์ไม่ได้ แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด นกแอร์เป็นรัฐอิสระเป็นบริษัทเดียวในโลกที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ 49% ไม่สามารถควบคุม สั่งการ หรือปลดผู้บริหารที่ถือหุ้นเพียง 2% ได้

การบินไทยในยุคที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จึงมีแผนร่วมทุนกับไทเกอร์ แอร์เวย์ส สายการบินโลว์คอสต์ของสิงคโปร์ ตั้งสายการบินไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์สสู้กับไทยแอร์เอเชีย แต่ไม่ผ่านอนุมัติโดยอ้างว่า การบินไทยมีนกแอร์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีโลว์คอสต์แอร์ไลน์อีกสายให้ซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง

การบินไทยจึงหาทางออก โดยตั้งสายการบินไทยสมายล์ขึ้นมา โดยกำหนดให้เป็นสายการบินพรีเมียม โลว์คอสต์ เพื่อจะได้ตอบคำถามที่ว่า มีนกแอร์แล้ว จะตั้งโลว์คอสต์ แอร์ไลน์อีกทำไม ตอนแรกไทยสมายล์เป็นหน่วยธุรกิจภายใต้การบินไทยเรียกว่า หน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ แต่ต่อมาไม่นาน ไทยสมายล์ถูกแยกออกจากการบินไทย เป็นบริษัท ไทยสมายล์ จำกัด เมื่อปี 2555 โดยมีการบินไทยถือหุ้น 100% และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ

การแยกออกมาเป็นบริษัท ก็เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็คือการสร้างรัฐอิสระที่มีการบริหาร มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างของตัวเอง ไม่ต้องขึ้นกับการบินไทย ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยตรงจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

  1. ไม่มีคนของตัวเอง ใช้บริษัทภายนอก จะขาดทุนหรือกำไรต้องจ่ายเท่าเดิมทำให้ไปเพิ่มต้นทุนสูงขึ้น

ไล่เลี่ยกับการตั้งไทยสมายล์ การบินไทยลงทุนร่วมกับบริษัท ครัวการบินภูเก็ต จำกัด ตั้งบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส ขึ้นมาเป็นกิจการรับช่วงการให้บริการ หรือ Outsource ทำหน้าที่ให้บริการบนเครื่อง ให้บริการภาคพื้นดิน บริการซ่อมบำรุงให้กับ ไทยสมายล์

สายการบินไทยสมายล์ มีแต่ชื่อ และผู้บริหาร กรรมการบริษัท ผู้บริหารบริษัท เพราะที่ผ่านมาจะเป็นผู้ที่เกษียณจากการบินไทยไปอยู่ที่ไทยสมายล์  ส่วนพนักงานทั้งบนเครื่อง และภาคพื้นดินเป็นพนักงานของวิงสแปน ต้นทุนค่าใช้จ่ายของไทยสมายล์ ก็คือ ค่าจ้างที่จ่ายให้กับวิงสแปน ซึ่งมีอัตราแน่นอน สภาพการแข่งขันในธุรกิจการบินจะรุนแรงขึ้น ไทยสมายล์จะต้องลดค่าตั๋วลงมา ไม่กระทบกับค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้กับวิงสแปน ไทยสมายล์จะขาดทุนมากหรือน้อย ต้องจ่ายค่าจ้างให้วิงสแปนเต็มเม็ดเต็มหน่วย

สายการบินอื่นๆ ที่มีกำไรแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับไทยสมายล์ ก็เพราะมีการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายได้คล่องตัว ยืดหยุ่นกว่าไทยสมายล์ สาเหตุที่ไทยสมายล์ขาดทุนมาทุกปี ก็ไม่ต่างจากสาเหตุการขาดทุนของการบินไทยคือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมากนั่นเอง