ม็อบปั่นไม่ขึ้น แฉรอบ3 เดือน จัด8ครั้งคนร่วมหลักร้อย ล่าสุดปลุกลูกก๊วนจาบจ้วงอีก 20 มี.ค. เตือนพากันลงเหว

2356

แม้ว่าการชุมนุมในช่วงนี้มวลชนจะบางตาเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่ามากันแค่กลุ่มแกนนำเท่านั้นเองมายืนปราศรัยแล้วก็กลับ แต่ทว่าความพยายามปลุกปั่น ยุยง จากแกนนำก็ยังไม่จบ เนื่องจากว่าล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH” ประกาศนัดหมายการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 20 มี.ค. เวลา 18.00 น. ที่สนามหลวง ให้ผู้ชุมนุมร่วมพับเครื่องบินกระดาษ ทำเป็นจดหมายพาดพิงสถาบัน ส่งข้ามรั้ววัง

โดยระบุว่า การต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง ร่วมลั่นกลองรบและเคลื่อนพลไปพร้อมกัน สนามราษฎรจะไม่ได้เป็นเพียงที่เผาศพอีกต่อไป มวลชนรีเดมทุกท่านโปรดเตรียมความพร้อมสู้ศึกครั้งนี้ โดยภายในงานประกอบด้วยไฮไลท์คือ “ส่งสาสน์เรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์และลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลาย ร่วมกันแสดงพลังหยุดระบอบกษัตริย์เหนือรัฐธรรมนูญและทวงคืนประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน 20 มีนานี้ (จากการเลือกของมวลชน REDEM: https://t.me/joinchat/WPHvj-Vc6d80YWQ1) พร้อมกัน 18.00 น. ที่สนามหลวงและยุติการชุมนุมในเวลา 21.00 น. ไม่มีการเดินขบวน ไม่มีแกนนำ ร่วมกันแสดงพลังให้เต็มพื้นที่ นำกิจกรรมมาร่วมกันทำ นี่คือพื้นที่ของประชาชนทุกคน

ทั้งนี้ การออกมาประกาศนัดชุมนุมในครั้งนี้ กลุ่มแกนนำเองก็เหมือนจะทราบว่ามวลชนจะออกมาร่วมชุมนุมแค่เพียงน้อยนิดเท่านั้น เพราะจากเหจุการณ์การชุมนุมที่ผ่านมาก็เห็นภาพปรากฏชัดเจนแล้วว่า คนเริ่มลดน้อยลงทุกครั้ง ๆ จากหลักพันลดลงมาเหลือแค่ไม่กี่ร้อย และล่าสุดแทบจะมีคนร่วมชุมนุมอยู่เพียงหลักสิบ ในส่วนที่ยังเคยมีรายงานด้วยว่า เป็นกลุ่มแกนนำ สื่อมวลชน กับเจ้าหน้าที่ซึ่งมาคอยดูแลความเรียบร้อยด้วยซ้ำ

โดยย้อนไปที่การชุมนุมเมื่อช่วงเปิดศักราชปี 2564 คือในช่วงวันที่ 9 ก.พ. 2564 สืบเนื่องจาก ภายหลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ และ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาที่ 1-4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎ กระทำความผิดตามมาตรา 112, ม.116, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ป.อาญา ม.215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะฯ

ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ, ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯ, ทำลายโบราณสถานฯ, ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ รวม 11 ข้อหา จากกรณีชุมนุม ม.ธรรมศาสตร์-สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 พร้อมนำตัวส่งศาลอาญาทันที

ต่อมาทางเพจเฟซบุ๊ก ราษฎร ก็มีการปลุกระดมมวลชนออกมาชุมนุมทันที ว่า ระดมพลด่วน เวลานี้ ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน ราษฎรทั้งหลาย จงออกมาร่วมแสดงพลังให้โลกรับรู้ว่า เราไม่ยินยอมให้กฎหมายที่ไม่ควรมีอยู่ในประเทศประชาธิปไตย อย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มากักขังความคิด ปิดกั้นเสรีภาพของเราอีกต่อไป จงมารวมตัวกันเพื่อยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับการฝากขังทนายอานนท์ นำภา เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข และหมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เพราะสิทธิในการได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว เป็นสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาและผู้ต้องขัง #ปล่อยเพื่อนเรา ซึ่งในวันดังกล่าวก็พบว่ามีคนร่วมชุมนุมไม่มาก จึงมีการประกาศอีกว่า ถึงเเม้มวลชนจะมีไม่มาก เเต่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการชุมนุมวันต่อไปคือ 10 ก.พ. 2564

ซึ่งต่อมาในวันที่ 10 ก.พ. 2564 ปรากฏว่า บนสกายวอล์ก หน้า MBK แยกปทุมวัน มีการโห่ร้อง และนำ “กระทะ-หม้อ” ที่เตรียมมาเคาะใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งมีกลุ่มมวลชนทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรม “รวมพลคนไม่มีกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ” เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ส่งเสียงไปถึงรัฐบาล และเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำที่ถูกดำเนินคดี ณ บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน แต่ในครั้งนี้ก็มีมวลชนมาร่วมชุมนุมหลักร้อยเท่านั้นเอง

และในวันที่ 13 ก.พ. 2564 ก็มีการจัดชุมนุม โดยผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเริ่มลงสู่ถนนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกิจกรรม นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน หลังจากทยอยมารวมตัวตั้งแต่ราว 14.00 น. จากนั้นเวลา 18.19 น. ผู้ชุมนุมนำผ้าแดงบรรจุข้อความผู้ร่วมชุมนุมที่ต้องการส่งถึงผู้มีอำนาจห่มอนุสาวรีย์ฯ

จากนั้น เวลา 18.40 น. ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าศาลหลักเมือง เมื่อถึงหน้าศาลฎีกาใกล้ศาลหลักเมือง ซึ่งถูกตำรวจวางแนวขวางไว้ เวลา 19.48 น ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ ปราศรัย ว่าจากการเจรจากับตำรวจ ตำรวจ ยอมยุติการใช้เสียง ยอมให้รื้อรั้วลวดหนามที่จะเป็นอันตรายกับผู้ชุมนุม และปิดไฟแรงสูงที่สาดใส่ผู้ชุมนุม พร้อมขอเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปเจรจากับเจ้าพ่อหลักเมืองต่อ และวันที่ 20 ก.พ.จะกลับมาใหม่อีก

เวลา 20.22 น. แกนนำประกาศยุติการชุมนุม ประชาชนส่วนหนึ่งทยอยออกจากพื้นที่ แต่ยังคงมีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการยุติการชุมนุมยังคงยืนสังเกตการณ์บริเวณหน้าแนวของตำรวจ ซึ่งในครั้งนี้ก็เป็นอีกการชุมนุมที่มวลชนเข้าร่วมเพียงหลักร้อย

ส่วนในวันที่ 20 ก.พ. 2564 บรรยากาศการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา มีแกนนำกลุ่มราษฎรได้ผลัดกันอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา โดย น.ส.เบนจา อะปัญ แกนนำม็อบราษฎร ปราศรัยเป็นคนสุดท้ายและประกาศยุติชุมนุมแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวายเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ยอมรับว่า ม็อบช่วงหลังแผ่วลงไป แต่อย่างไรก็ตามเราจะเคลื่อนไหวอีกครั้ง และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่มวลชนเข้าร่วมเพียงน้อยนิด จนแกนนำถึงกับเอ่ยปากว่าแม้จะแผ่วแต่ก็ขอสู้ต่อ

และ ในวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปดูความเรียบร้อยเสียชีวิต

มาที่เดือน มี.ค. 2564 ซึ่งในเดือนนี้แกนนำก็ประกาศชุมนุมหลายครั้งแต่ปรากฏว่าทุกครั้งก็มีคนร่วมชุมนุมเพียงหลักสิบหลักร้อยเท่านั้น โดยเริ่มที่ วันที่ 6 มี.ค. 2564 ต่อเนื่องถึง 7 มี.ค. 2564 และประกาศชุมนุมอีกครั้งคือ 13 มี.ค. และล่าสุดก็วันที่ 20 มี.ค. ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะ มวลชนเริ่มเบื่อกับพฤติกรรมของแกนนำม็อบ และยังเบื่อหน่ายไปถึงพฤติกรรมของคนร่วมม็อบ การ์ดม็อบที่บางครั้งก็สร้างความรุนแรง จึงทำให้เกิดการไม่อยากร่วมชุมนุมอย่างที่เราได้เห็นกัน