ตั้งการ์ดสูงไว้!!บิ๊กฟาร์มามั่นใจผลิตวัคซีนต้าน ‘โอไมครอน’ได้ ไทยร่วมถกWHOเตรียมรับมือ

1207

สถานการณ์การระบาดใหญ่รอบใหม่ทำโลกระส่ำหนัก ไวรัสโควิด-19 กลายพันธ์ที่องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อว่า ‘โอไมครอน’ บุกหนักที่อาฟริกา กำลังแพร่ในยุโรปทั้งอังกฤษ-เยอรมนี-อิตาลี-เนเธอร์แลนด์ แม้อิสราเอลซึ่งฉีดวัคซีน 100%ก็ไม่รอด หลายแห่งพากันแบนเที่ยวบินจากอาฟริกา หลายแห่งประกาศปิดประเทศไม่ต้อนรับต่างชาติ ข้อเท็จจริงของอันตรายจะร้ายแรงแค่ไหนคงตองติดตามอย่างใกล้ชิด ล่าสุด บริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งค่ายตะวันตก-ตะว้นออกพากันยืนยันมั่นใจได้ว่า สามารถผลิตวัคซีนต้านได้ทันไม่เกินต้นปีหน้า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากรัสเซียเตือนว่าไม่ควรตระหนกเกินเหตุ

เมื่อ 29 พ.ย.64 สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post) รายงานว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้าน COVID-19 ทั้ง Pfizer BioNTech Moderna AstraZeneca Covidshield Covaxin และ Sinovac ต่างแสดงความมั่นใจถึงศักยภาพการผลิตวัคซีนสูตรใหม่สำหรับต้าน COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอน ได้อย่างรวดเร็ว หากจำเป็นต้องผลิตวัคซีนเพื่อต้าน COVID-19 สายพันธุ์ดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์อยู่ระหว่างทดสอบว่าวัคซีนสูตรเดิมยังคงมีประสิทธิภาพในการต่อต้านสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่อย่างไร 

โดยจะทราบผลการทดสอบในกลางเดือน ธ.ค.2564 อย่างไรก็ดี Moderna ระบุว่า หากจำเป็นต้องผลิตวัคซีนสูตรใหม่ เพื่อต่อต้านสายพันธุ์โอไมครอน จะสามารถผลิตวัคซีนชุดแรกได้ภายในต้นปี 2565

สำหรับประเทศไทยอยู่ในระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยพิเศษ ส่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นำคณะร่วมงานห้องประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลก ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส สานต่อนโยบายนายกรัฐมนตรี แสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับทั่วโลกสร้างกลไกและเครื่องมือตอบโต้โควิด-19และโรคอุบัติใหม่

ภารกิจนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นำคณะผู้แทนประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เนื่องจาก WHO ได้ตัดสินใจเดินหน้าการจัดประชุมตามที่กำหนดระหว่างวันที่ 29 พ.ย-1ธ.ค.64 แม้จะมีกรณีการพบการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธ์ุโอไมคอนในแอฟริกาใต้ เนื่องจากเห็นว่าการประชุมนี้มีขึ้นเพื่อเริ่มต้นพิจารณาการจัดทำกฏหมายระหว่างประเทศเพื่อสร้างพันธสัญญาระหว่างประชาคมโลก ในการร่วมกันป้องกัน ตรวจจับและตอบโต้โรคระบาดระดับโลก ไม่จำกัดเฉพาะ โควิด-19 ซึ่งระหว่างการประชุมผู้จัดประชุมดำเนินมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด

ทั้งนี้ เนื่องจากการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่นั้นเกินขอบเขตของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation, IHR 2005) ที่ประเทศต่างๆทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศขึ้นใหม่ ที่มีสาระสำคัญกว้างขวางมากกว่าเดิม เพื่อให้ประเทศต่างๆทั่วโลกสามารถรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาไวรัส2019 (โควิด-19) หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยเฉพาะประเด็นของความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ รวมถึงศักยภาพในการผลิตยา และเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน การคลังด้านสุขภาพที่เพียงพอต่อการให้บริการต่างๆ ศักยภาพของระบบสาธารณสุขในการรับมือต่อการระบาดใหญ่ การปฏิบัติตาม IHR (2005) การแลกเปลี่ยนตัวอย่างเชื้อและข้อมูลต่างๆ ผ่านเครือข่าย การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ผลลัพธ์จากการประชุมที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. จะเป็นข้อตัดสินใจ(Decision) ว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือและต่อรองระหว่างประเทศสมาชิก หรือที่เรียกว่า Intergovernmental Negotiating Body (INB) ให้เป็นกลไกการหารือระหว่างประเทศสมาชิก ในการกำหนดการจัดทำข้อผูกพันต่างๆ  ข้อกำหนดการทำงาน ตลอดจนระยะเวลาการทำงานของ INB โดยมีเป้าหมายว่าจะสามารถนำเสนอผลการทำงานของ INB ต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพ สมัยที่ 76 ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นการยกระดับกฎเกณฑ์สำหรับการตอบสนองต่อโรคระบาดขึ้นไปเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ประชาคมโลกสามารถจัดการกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

อเล็กซี อะกรานอฟสกี(Alexey Agranovsky) ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโก แย้งว่าโลกควรระวังสายพันธุ์ใหม่ แต่ไม่น่าจะเป็นอันตรายเท่ารุ่นเดลต้าที่ซึ่งทำให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับแพทย์คนแรกที่แจ้งเตือนโควิด’โอมิครอน’ ชี้ว่าตัวกลายพันธุ์นี้ก่ออาการแค่เล็กน้อย-มั่นใจรับมือได้

แพทย์หญิงแองเจลิเก้ โคเอตซี แพทย์ประสบการณ์ 30 ปี ประธานแพทยสภาแอฟริกาใต้ (ซามา) ระบุว่าคนไข้ที่ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” บ่นว่ามีอาการอ่อนล้า ปวดร้าวบริเวณศีรษะและลำตัว บางครั้งมีอาการเจ็บคอและไอ ในขณะที่การติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตา ก่ออัตราการเต้นของชีพจรสูง ผลก็คือระดับออกซิเจนต่ำ รวมถึงสูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส

นักวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษาของรัฐบาลแอฟริกาใต้กล่าวระหว่างแถลงข่าวในวันจันทร์(29พ.ย.)ที่ผ่านมาว่า “แม้โอมิครอน ดูเหมือนจะแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า แต่เคสผู้ติดเชื้อทั้งหลายดูจะมีอาการเล็กน้อยมาก อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่มันจะหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนผู้ป่วยเหล่านี้ จนถึงตอนนี้ มีอาการเล็กน้อย”