ทรราชย์สหรัฐรุกไล่เมียนมาท้าจีน?!? หนุนม็อบต้านกองทัพกดดันอาเซียน ขณะส่งเรือพิฆาต 2 ลำประจำน่านน้ำทะเลจีนใต้

1676

กลิ่นสงครามโชยใกล้บ้านเราแล้ว  เมื่อวานนี้กองทัพเมียนมาประกาศกฏอัยการศึกในย่างกุ้ง เนปิดอว์และมัณฑะเลย์ ห้ามชุมนุมหรือรวมตัวกันเกิน 5 คน ห้ามปชช.ออกนอกบ้านเวลา 20.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.2564 จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากชาวเมียนมาหลายหมื่นคนชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารที่เมืองใหญ่มา 3 วันทางตำรวจขู่ถ้าไม่หยุดจะใช้กระสุนจริงแล้ว  ขณะที่แก๊งต้านจีน-พันธมิตรQUAD เคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ม ออสเตรเลียเรียกร้องให้ปล่อยที่ปรึกษาอองซานชาวออสซี่ ญี่ปุ่นประท้วงจีนถอนการลงทุน บางแห่งปิดโรงงานชั่วคราว ส่วนไบเดนแถลงการณ์จะแข่งขันจีนอย่างจริงจังแต่ไม่ขัดแย้ง ช่างโกหกอย่างไม่ละอายไม่รู้ใครเลียนแบบใครระหว่างไบเดนกับตี๋ทอน และคนโกหกไม่ทำชั่วเป็นไม่มี ขณะที่ใช้การทูตผลักดันนานาชาติ และอาเซียน ก็เคลื่อนพลทางทหารทางเรืออย่างเป็นระบบในน่านน้ำทะเลจีนใต้ พฤติกรรมส่อเจตนาปิดบังอย่างไรก็ไม่มิด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี ได้ออกแถลงการณ์ไปยังนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก UN ร่วมมือกันกดดันกองทัพเมียนมาเพื่อให้มีการปล่อยตัวบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมา ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ

แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้นายกูเตอร์เรสคัดค้านไม่ให้การรับรองรัฐบาลกองทัพเมียนมาซึ่งได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าว

ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยทันที ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี จากที่ตั้งใจจะประณามรัฐประหารและคว่ำบาตร เพื่อเปิดโอกาสดำเนินการขั้นสูงด้านการทหาร แต่ถูกจีนและรัสเซียวีโต้ไว้

กองทัพเมียนมาอ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ว่า เกิดจากการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย.2563 ซึ่งส่งผลให้พรรค NLD ของนางซูจีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประสบความล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้ง ปฏิเสธการตรวจสอบความผิดปกติในรายชื่อของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มีการนำรายชื่อคนตายไปสวมสิทธิ์ในหลายเมือง และพรรค NLD ยืนยันเปิดสภาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล จึงถึงจุดแตกหักยึดอำนาจ

มาถึงวันนี้สถานการณ์เริ่มส่อเค้าบานปลาย การที่กองทัพเมียนมาคาดว่าจะสามารถกุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้ในเร็ววัน ดูอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

วันที่ 8 ก.พ.2564 สำนักข่าว Myanmar Times และ Channel News Asia รายงานอ้างแถลงการณ์ของ General Administration Department กระทรวงมหาดไทยเมียนมาว่า ทางการเมียนมาประกาศกฎอัยการศึกในภาคมัณฑะเลย์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 7 เขต ห้ามชุมนุมประท้วงหรือรวมตัวเกิน 5 คน และห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 20.00 – 04.00 น. โดยให้บังคับใช้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ระบุว่าเนื่องจากมีประชาชนบางส่วนกระทำการที่เป็นภัยต่อความปลอดภัยสาธารณะและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนจนอาจนำไปสู่การก่อความวุ่นวายในประเทศ ดังนั้นจึงมีคำสั่งห้ามการชุมนุม การปราศรัยในที่สาธารณะ การรวมตัวชุมนุมโดยใช้ยานพาหนะและการประท้วง 

ด้าน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานในวันเดียวกันอ้างถ้อยแถลงของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ง์ ผบ.ทสส.เมียนมา ทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นการสื่อสารกับประชาชนครั้งแรกหลังรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 1 ก.พ.2564 ว่า จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปและถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง พร้อมทั้งอ้างถึงการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ พ.ย.2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD/พรรครัฐบาล) ได้รับชัยชนะว่าเป็นการเลือกตั้งที่ทุจริตไม่โปร่งใส

ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนเมียนมาในเมืองเนปิดอว์ ผู้ชุมนุมได้ตะโกนต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องให้ตำรวจอยู่ฝ่ายประชาชน อย่างไรก็ดี ตำรวจได้วางกำลังเป็น 3 แถวเพื่อรับมือกลุ่มผู้ประท้วง พร้อมกับชูป้ายแสดงข้อความ “เขตใช้กระสุนจริง หากผู้ชุมนุมบุกฝ่าตำรวจแนวที่ 3” ก่อนหน้านี้ ตำรวจในเมืองเนปิดอว์ได้ฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วง นอกจากนี้ กองทัพเมียนมายังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีเสถียรภาพในประเทศ ขณะที่ทางกองทัพจะยึดมั่นในหลักนิติรัฐ ปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น สำหรับการประท้วงในย่างกุ้ง และมันฑะเลย์ก็มีสถานการณ์ใกล้เคียงกัน

ส่วนการเคลื่อนไหวของฝ่ายตะวันตกที่นำโดยสหรัฐเป็นไปอย่างเข้มข้น

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2564 นางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐมีความกังวลต่อการที่จีนยังคงไม่ได้แสดงจุดยืนต่อการก่อรัฐประหารในเมียนมา

ขณะเดียวกันปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนจะเป็นไปในรูปแบบ “การแข่งขันอย่างดุเดือด” มากกว่า “ความขัดแย้ง” พร้อมเผยว่าเขายังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับปธน.สี จิ้นผิง ของจีนนับตั้งแต่ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ไบเดนยังกล่าวว่าเขารู้จักสี จิ้นผิง ค่อนข้างดี หลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามานานถึง 8 ปี โดยระบุว่าสี จิ้นผิงเป็นคนเด็ดขาดและไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในตัว คำกล่าวนี้ช่างเหมือนกับสมัยทรัมป์ ที่เชิญสี จิ้นผิงเยือนทำเนียบขาว แล้วว่า สีเป็นคนเลือดเย็น คิดแต่เรื่องประเทศชาติ คุยด้วยยาก

ทำเนียบขาวกดดันจีนให้ประณามการก่อรัฐประหารในเมียนมาแต่จีนและรัสเซีย มองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในจึงแค่ท้วงติงให้เจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาและสันติวิธี ส่วนปธน.ไบเดนว่าสหรัฐไม่ได้ขัดแย้งจีน แต่ระดมพลแก๊งต้านจีน QUAD ได้แก่ สหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นรุมเมียนมา กดดันไทย นี่นะหรือไม่ขัดแย้ง??

ประเทศญี่ปุ่นเด้งรับก่อนใคร วันที่ 5 ก.พ.2564 โดยบริษัทคิริน (Kirin) ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติญี่ปุ่น ประกาศยุติแผนการร่วมลงทุนกับกลุ่มบริษัท Myanmar Economic Holdings Public Company Limited หรือ MEHL ซึ่งเป็นโฮลดิ้งภายใต้กองทัพเมียนมา หลังเหตุรัฐประหารยึดอำนาจพรรคเอ็นแอลดีของอองซาน ซูจี  คิรินระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการกระทำล่าสุดของทหารในเมียนมา ทำให้บริษัทไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการเป็นหุ้นส่วนกับ MEHL ซึ่งเป็นกลุ่มทุนของกองทัพ

สำหรับคิรินมีสัดส่วนการลงทุนร่วมกับ MEHL ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท Myanmar Brewery Limited ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ ด้วยการลงทุนกว่า 500 ล้านดอลลาร์ในปี 2558 โดยบริษัทมีแผนต่อยอดลงทุนเพิ่มในเมียนมา แต่ด้วยเหตุรัฐประหารจึงระงับแผนการณ์ดังกล่าว  ท่าทีดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจากองค์กรสิทธิมนุษชนในญี่ปุ่นที่บริษัทตัดสินใจดังกล่าว ทั้งยังหวังว่าบริษัทต่างชาติรายอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ด้านการลงทุนกลับกลุ่มบริษัทที่มีกองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของ จะตัดสินใจในลักษณะเดียวกัน

ส่วนออสเตรเลียเรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวที่ปรึกษาซูจีชาวออสเตรเลีย

โดยเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2564 สำนักข่าวเอบีซี ของออสเตรเลีย รายงาน อ้างคำแถลงของนางมารีส เพย์น รมว.กต.ออสเตรเลีย เรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัว ศาตราจารย์ ชอน เทอร์เนลล์ (Sean Turnell) ชาวออสเตรเลียที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของอองซานซูจี ซึ่งถูกควบคุมตัวภายหลังเกิดการรัฐประหารโดยทันที อย่างไรก็ตาม รมว.กต.ออสเตรเลียปฏิเสธเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมา โดยระบุเพียงว่าความสัมพันธ์ทางการทหารทวิภาคีของทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างการทบทวน

สำหรับอินเดียซึ่งมีชายแดนติดกับทางเหนือเมียนมา กลับยังสงวนท่าที ไม่ประณามกองทัพยึดอำนาจโดยตรง แต่อาศัยแถลงการณ์ร่วมของคณะมนตรีความมั่นคงท้วงติงเท่านั้น 

ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ทรราชย์สหรัฐที่นำพันธมิตรต้านจีน QUAD แสดงบทบาทกดดันเมียนมา ภายใต้การกดดันทางการทูตต่อสมาชิกอาเซียน และการเคลื่อนไหวทางทหารในน่านน้ำทะเลจีนใต้อย่างเปิดเผย ล่าสุด เรือพิฆาต US Nimits และ ทีโอดอร์ รูสเวล ประจำอยู่น่านน้ำแล้ว ประเทศไทยย่อมเลี่ยงไม่พ้นได้รับผลกระทบโดยตรง จับตาแนวโน้มการก่อหวอดต้านกองทัพเมียนมา  จะเชื่อมโยงกับการต้านรัฐบาลและสถาบันของไทยอย่างอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะไทยเป็นประชาธิปไตย จับปล่อยจับปล่อย กลุ่มหัวรุนแรงในเมียนมาและในไทยพร้อมลุย รัฐบาลเตรียมตั้งรับให้ดี คนไทยจะต้องร่วมกันฟันฝ่าสงครามไฮบริดของทรราชย์สหรัฐไปให้ได้!