รุ้งอยู่ข้างนอก42วันจะซ้ำรอยฟอร์ดหรือไม่? พ่อขึ้นไต่สวนลูกต้องกลับไปดูแลแมว-หนูที่บ้าน

1361

จากที่เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความเล่าถึงเหตุการณ์ ช่วงการประกันตัว รุ้ง มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อครอบครัว และอาจารย์ มาเป็นพยานไต่สวนช่วยให้ได้รับการประกันตัว

โดยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ศาลาอาญา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในสองคดีที่ถูกออกหมายขัง ได้แก่ คดีชุมนุม 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 และคดีชุมนุม 2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 โดยทั้งสองคดีมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าว

เวลา 13.30 น. ศาลได้ไต่สวนปนัสยา โดยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง มีบิดามารดาของปนัสยา และ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาร่วมไต่สวน

ปนัสยา ได้แถลงต่อศาลบางช่วง ว่าตนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขณะนี้อยู่ในช่วงสอบปลายภาคการศึกษาที่ 1 ซึ่งมีกำหนดระหว่างวันที่ 2 ธ.ค. ถึง 17 ธ.ค. 64  โดยรายวิชาที่เธอลงทะเบียนเรียน มีทั้งรูปแบบการสอบที่ไปทำข้อสอบ และการทำรายงานการศึกษาวิจัย นอกจากนั้นยังมีวิชาที่มีการบ้านเพื่อเก็บคะแนน ซึ่งหลังเธอถูกคุมขัง ไม่สามารถทำงานดังกล่าวได้ หากได้รับการปล่อยตัวไป ก็ต้องไปทำงานชิ้นนั้นให้แล้วเสร็จ

ทนายความได้สอบถามปนัสยา ว่าหากเสนอเงื่อนไขต่างๆ ในการปล่อยตัวชั่วคราว ได้แก่ เงื่อนไม่กระทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร, ไม่ออกนอกเคหสถาน เว้นแต่ไปศึกษาเล่าเรียน ไปรักษาพยาบาล หรือไปพิจารณาคดีต่างๆ รวมทั้งการติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) รวมทั้งมีการตั้งผู้กำกับดูแล ปนัสยาจะสามารถรับเงื่อนไขได้หรือไม่ ปนัสยาได้ตอบรับเงื่อนไขดังกล่าวทั้งหมด

จากนั้น บุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้ขึ้นเป็นพยานในการไต่สวน โดยบุญเลิศแถลงว่าตนเป็นอาจารย์ในคณะของปนัสยา และเป็นผู้สอนรายวิชา 1 วิชา ในเทอมนี้ ที่ปนัสยาลงทะเบียนเรียน ตนยินดีเป็นผู้กำกับดูแลปนัสยา ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล โดยก่อนหน้านี้ปนัสยาก็ให้ความร่วมมือด้วยดีมาตลอด

จากนั้น บิดาของปนัสยา ได้ขึ้นเบิกความเป็นพยานปากที่ 3 ในการไต่สวน โดยยืนยันว่าทางครอบครัวพร้อมที่จะเป็นผู้กำกับดูแล ให้ปนัสยาปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ หากศาลกำหนดเพื่อให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยจะพยายามเฝ้าดูลูกต่อไป หลังได้รับการประกันตัวเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ปนัสยาก็ไม่ได้กล่าวปราศรัยพาดพิงสถาบันฯ เพียงแต่ได้ไปร่วมกิจกรรมในประเด็นอื่นๆ เช่น เรียกร้องให้คนเท่ากัน หรือเรื่องความหลากหลายทางเพศ นอกจากนั้นบิดาของปนัสยายังแถลงว่า ปนัสยายังต้องดูแลแมว และหนูแฮมสเตอร์ที่อยู่ที่บ้านด้วย

ศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว โดยที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาพิจารณาแล้ว จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอย่างจำกัด โดยให้มีผลเฉพาะตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2565 กำหนดเงื่อนไข

  1. ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 3. ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานตลอดเวลา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียนไปสอบ ไปติดต่อราชการที่ศาลอื่น หรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล  4. ห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร 5. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

ศาลได้สั่งให้ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยหากผิดสัญญาประกัน ให้ปรับเป็นเงิน 90,000 บาท โดยไม่เรียกหลักประกัน ทั้งนี้ ปนัสยาถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 64 รวมระยะเวลา 16 วันแล้ว

ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2564 หลังทนายความยื่นคำร้องขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว  “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคดีชุมนุมอยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทั้งสองคดีมีข้อหาหลักตามมาตรา 112 เวลาต่อมา ศาลทั้งสองมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของทั้งสองคดี ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับศาลอาญา และรุ้ง ได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของทั้งสองคดีในวันนี้ ทำให้น.ส.ปนัสยาจะได้รับอิสรภาพหลังถูกจองจำที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 64 รวมระยะเวลา 17 วัน โดยคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวดังกล่าวในทั้ง 4 คดี จำกัดเพียงถึงวันที่ 12 มกราคม 2565 เท่านั้น