อานนท์จากทนายอากงสู่ผตห.ผิดม.112 รุ้งแชร์ข้อความนักโทษหมิ่นสถาบันเสียชีวิต

5950

กลายเป็นประเด็นให้ม็อบนำไปปลุกระดมได้เรื่อยๆ เมื่อล่าสุดศาลชั้นต้นไม่ให้ประกัน 4 ราษฎร หลังยื่นประกันครั้งที่ 3 ด้วยเงินสดคนละ 400,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ยังถูกนำไปโยงกับคดีอากง พร้อมทั้งยังมีการเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาด้วยนั้น???

ทั้งนี้เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความระบุ ศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว 4 ราษฎร “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์​, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ในคดีมาตรา 112-116 กรณีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีมาตรา 112 กรณีชุมนุม #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ MobFest หลังยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 3 ด้วยเงินสดคนละ 400,000 บาท เพิ่มขึ้นจากการยื่นประกันครั้งที่แล้วอีก 100,000 บาท

ศาลพิเคราะห์ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันนี้อีก จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยและผู้ร้องทราบ คำสั่งไม่ให้ประกันนี้มี ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้ลงนาม

ก่อนหน้านี้ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นประกันตัวทั้ง 4 นับเป็นการยื่นประกันครั้งที่ 3 โดยเพิ่มหลักทรัพย์เป็น 400,000 บาท จากครั้งที่แล้วที่ยื่นขอประกันด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท

ย้อนดูคำสั่งศาลไม่ให้ประกัน 2 ครั้งก่อน ชี้หากปล่อยตัว จำเลยอาจไปทำผิดซ้ำอีก

เมื่อ 9 ก.พ. 2564 ทนายจำเลยยื่นประกันครั้งแรกในวันสั่งฟ้องคดี โดยยื่นหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท ในคดีชุมนุม 19 กันยา ส่วนในคดี Mob Fest ของพริษฐ์ ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนที่ศาล มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”

จากนั้น 15 ก.พ. 2564  ศาลอาญาอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุการปราศรัยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ฯ

และเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ในการยื่นประกันตัวครั้งที่ 2 ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ชี้ว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 4 มาก่อนแล้ว คดียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง

ดังนั้น จึงทำให้ทั้ง 4 ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลา 14 วันแล้ว และถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลา ทั้ง 4 อาจถูกคุมขังจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ขณะที่รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ได้มีความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul โดยแชร์ข้อความของนายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสประจำข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ที่โพสต์เนื้อหาว่า

“อากงตายคาคุก ม.112 ตอนนั้นทนายชื่อ อานนท์ นำภา

วันนี้อานนท์และพวกถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันเป็นครั้งที่3 และผู้พิพากษาผู้ไม่ให้ประกันคือ คนเดียวกับที่ตัดสินอากง”

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ศาลอาญาระบุ นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” ผู้ต้องขังคดีหมิ่นเบื้องสูง เสียชีวิต เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิต และระบบหายใจล้มเหลว จากโรคมะเร็งตับ ไม่ได้เกิดจากความประมาทของแพทย์ หลังเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ขณะถูกคุมขัง

โดยในวันที่ 30 ต.ค. 2556 มีเพียง นายอานนท์ นำภา ทนายความ มาฟังคำสั่งการเสียชีวิตของ นายอำพล อายุ 61 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 20 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานประกอบกับแพทย์ผู้วินิจฉัยโรค โดยระบุว่า แพทย์รักษานายอำพลตามขั้นตอน และได้ติดตามดูแลอาการอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ญาติจะนำความเห็นของแพทย์ชันสูตรมาเบิกความทำนองว่า มีอาการน้ำในช่องท้องส่งผลให้บีบหัวใจ ทำให้เสียชีวิตฉับพลัน

ศาลเห็นว่า เป็นการวินิจฉัยหลังการผ่าศพชันสูตร ซึ่งแพทย์ได้ให้ยารักษาโรคตามแนวทางการรักษาของแพทย์แล้ว แม้ในวันที่นายอำพล เสียชีวิตแพทย์เจ้าของไข้จะไม่ได้อยู่ด้วยแต่ก็ได้สั่งให้ทีมพยาบาลทำการปั๊มหัวใจ กู้ชีวิตตามขั้นตอนกว่า 20 นาที จึงไม่พอรับฟังได้ว่าการตายของนายอำพล เกิดจากความประมาทของทีมแพทย์ในขณะปฏิบัติหน้าที่

ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิต และระบบหายใจล้มเหลว เนื่องจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายลุกลาม และเป็นการเสียชีวิตขณะอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่