“สุชาติ” เตือนพรรคการเมือง ไล่บี้เช็คบิลส.ส.แหกมติ มีโทษสูงถึงขั้น “ถูกยุบ”

6099

หลังจากที่กลุ่มส.ส.พรรคก้าวไกล จำนวนมากแสดงออกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้ทางด้านของพรรคก้าวไกล ได้วินิจฉัยพิจารณาลงโทษ เช่น ไม่ส่งลงสมัคร ส.ส. งดเข้าร่วมกิจกรรมพรรค และตัดสิทธิในสภาที่พึงมีในนามพรรค

หลังจากนั้น ได้มีการเปิดประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี และเสียงฮือฮาในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล จำนวน 4 คน ลงมติไว้วางใจให้กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นการสวนมติวิปฝ่ายค้าน ทำให้ทางด้านของนายอนุทิน ได้รับคะแนนไว้วางใจสูงสุด 275 ต่อ 201

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาทางด้านพล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แฉว่าเรื่องทั้งหมดมันเกิดอะไรขึ้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ว่าจะไม่พูดถึงงูเห่า หรืองูดินก็แล้วแต่จะคิดกันไป ก็อดแตะเสียนิดหน่อยไม่ได้
จะขอเว้นรอบนี้ พูดถึงรอบก่อน ๆ

มีคนมาเล่าให้ฟังว่า ที่เขาสัญญาจะให้นั่น ให้นี่เป็นก้อนใหญ่น่ะ สรุปแล้วจะขอผ่อนหรือให้เป็นรายเดือนแทน
บางรายโดนเบี้ยวเสียเฉย ๆ ไม่ได้เงินเลยก็มี
เหตุผลก็เพราะหมดค่าไปแล้วตอนย้ายพรรคนั่นเอง

รอบนี้ไม่ทราบว่าอย่างไร แต่เสนอให้สามัคคีไว้ เก็บไว้นาน ๆ จนก่อนวันหมดวาระ หรือถ้าหนักคือถึงวันยุบสภา เพราะจะไม่มีโอกาสสมัครสมาชิกพรรคใหม่ให้มีสังกัดไม่น้อยกว่าวันที่กำหนดไว้ทัน (กี่วันลองค้นกันดู ไม่ 45 ก็ 90 วันครับ) ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าออกไปเพื่อจะทำพื้นที่หรือรับใช้ประชาชนในเขตจึงเป็นไปไม่ได้ ส.ส. ทุกคนก็รู้ครับ

ล่าสุดทางด้านนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณี ส.ส.ลงมติในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลไม่เป็นไปตามมติพรรค และแต่ละพรรคมีการตั้งกรรมการสอบสวนว่า ประเด็นนี้ไม่ควรมองในมิติเสถียรภาพของรัฐบาล ความเป็นเอกภาพของฝ่ายค้าน หรือมารยาททางการเมืองเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมองในมุมของหลักการ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อการทำหน้าที่ของ ส.ส.ด้วย โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับความเป็นอิสระ และเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ไว้ในหลายส่วน อาทิ มาตรา 114 ที่ระบุว่า ส.ส.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใด ๆ ขณะที่มาตรา 124 ก็ระบุว่า ในที่ประชุมสภาฯ ที่ประชุมวุฒิสภา

หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ตลอดจนข้อบังคับสภาฯ ข้อ 178 วรรคหนึ่ง ก็ได้กำหนดไว้สอดคล้องกัน คือ ทั้งในการอภิปราย หรือการลงมติ สมาชิกของพรรคการเมืองย่อมมีอิสระไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทย ที่ต้องมีอิสระ

“การลงมติใด ๆ ของ ส.ส.แต่ละคนย่อมเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ผู้นั้นที่จะไม่อยู่ในอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับสภาฯ ได้บัญญัติรองรับไว้อย่างชัดเจนว่า ส.ส.ย่อมอยู่ภายใต้หลักของการทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปของการปกครองระบอบประชาธิปไตย”

 


การดำเนินการของพรรคการเมืองเพื่อสอบสวน ส.ส.ที่ไม่ลงมติตามมติพรรคนั้นสามารถกระทำได้ภายใต้ข้อบังคับของพรรคการเมืองนั้น ๆ เพื่อแสวงหาเหตุผลที่ ส.ส.ไม่ปฏิบัติตามมติพรรค และนำไปชี้แจงต่อประชาชน รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีฝ่ายรัฐบาล อาจจะเป็นเพราะรัฐมนตรีผู้นั้นชี้แจงข้อกล่าวหาได้ไม่ชัดเจน ก็เป็นรัฐมนตรี หรือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ต้องดำเนินการชี้แจงเพิ่มเติม ด้านส.ส.ฝ่ายค้าน ก็อาจมองรัฐมนตรีชี้แจงได้ชัดเจนดีแล้วจึงลงมติไว้วางใจให้ เป็นต้น ส่วนการจะสอบสวนเพื่อนำไปสู่การลงโทษ ซึ่งข้อบังคับของแต่ละพรรคกำหนดโทษสูงสุดถึงขั้นขับออกจากพรรคนั้น ควรต้องพึงระวังว่าอาจจะขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เข้าข่ายการกระทำที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรมนูญกำหนด หรือเป็นลักษณะที่ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือไม่ ยกตัวอย่าง หากใช้เหตุผลว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ แล้วมาสอบสวนหรือลงโทษ ส.ส.ที่สังกัดพรรคตัวเอง อาจเข้าข่ายคนนอกครอบงำ เป็นเหตุให้นำไปสู่การร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้

ในฐานะที่อยู่ในระบบพรรคการเมืองมาตลอด และเข้าใจดีถึงความสำคัญของความเป็นเอกภาพของพรรคการเมือง ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้ท้ายหรือสนับสนุนให้ ส.ส.แหกมติพรรค แต่ต้องไม่ลืมว่า มติพรรคไม่ได้มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เป็นเพียงธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของพรรค แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนี้พรรคต้นสังกัดก็ย่อมต้องให้เกียรติวิจารณญาณของ ส.ส.ด้วยเช่นกัน เพราะแม้ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมือง และอยู่ภายใต้ข้อบังคับของพรรคการเมือง แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดจะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่ให้อิสระไว้ได้ อีกทั้งการยึดติดให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรคอย่างเคร่งครัดก็อาจนำไปสู่ระบบใบสั่ง ทำให้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่มีเสรีภาพในการออกเสียงอย่างเป็นอิสระ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

“ผมเห็นว่าการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจฯ ของ ส.ส.เป็นวิจารณญาณของผู้นั้นที่จะตัดสินใจได้โดยอิสระ แต่ในทางกลับกันหากการลงมติของ ส.ส.ผู้นั้นไม่เป็นไปตามมติพรรค เพียงเพื่อแลกรับผลประโยชน์ต่างตอบแทนใด ๆ หรือมีวาระส่วนตัวซ่อนเร้น ก็เป็นเรื่องที่ควรต้องถูกประณามและลงโทษในแง่จริยธรรมเช่นกัน หากชี้แจงไม่ได้หรือมีหลักฐานชัดเจน”