หยวนดิจิทัลมาแรง!?! ดันเอเชียใช้ ‘อี-เคอร์เรนซี’ มากขึ้น กัมพูชามีดิจทัลบากอง ไทยกำลังพัฒนา พม่าฮิตเป๋าเงินดิจิทัล

1582

การพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลของจีน ได้ส่งผลกระทบให้เอเชียสนใจใช้เงินในรูปแบบ “อี-เคอร์เรนซี’มากขึ้น  โดยผลสำรวจบีไอเอสชี้ว่า 86% ของธนาคารกลาง 65 แห่งในเอเชียยืนยันต้องการมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมของซีบีดีซี (CBDC) ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบต้นแบบ แต่เพื่อนบ้านกัมพูชา ก้าวไปก่อนด้วยโปรเจ็กต์ “เงินดิจิทัลบากอง” ขณะที่พม่าฮิตใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลล่วงหน้ามาก่อนแล้วเป็นปี

 

“หยวนดิจิทัล” หรือชื่อทางการคือ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) คือ สกุลเงินดิจิทัลที่มีความนิ่งของมูลค่า เพราะออกโดยธนาคารกลางจีน มีอัตราการแลกเปลี่ยนเท่ากับเงินหยวนที่เป็นรูปแบบกระดาษปัจจุบัน  

ที่ผ่านมาจีนตั้งใจผลักดันโปรเจคนี้มาตั้งแต่ปี 2014 มีการตั้งศูนย์กลางการวิจัยด้านสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency Research Lab) เมื่อปี 2017 เพื่อศึกษาการสร้างสกุลเงินใหม่ที่ออกโดยรัฐบาลจีน ปัจจุบันได้ทดลองใช้ใน 4 เมืองใหญ่อย่างเซินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และเขตพัฒนาพิเศษสงอัน และเชิญ 19 บริษัทใหญ่มาทดลองใช้หยวนดิจิทัลยกตัวอย่างเช่น วีแชท (WeChat) อาลีเพย์ (Alipay) แมคโดนัลด์ (McDonald’s) สตาร์บัคส์ (Starbucks) เป็นต้น อีกไม่นาน หากหยวนดิจิทัลสามารถออกมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง โดยที่ระยะทางไม่ใช่ปัจจัยอีกต่อไปไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกใบนี้ก็ตาม รวมทั้งยังไม่มีค่าธรรมเนียมเมื่อโอนเงินข้ามประเทศ และผู้รับจะได้รับเงินทันที ส่งผลทำให้การโอนเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ท่ามกลางภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้รูปแบบดิจิทัลได้รับความนิยมมากขึ้น รวมทั้งการที่บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มหาทางเปิดตัวสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนกันมากขึ้น 

เมื่อเดือนต.ค.2563 กัมพูชาเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียชาติแรกที่เปิดตัวระบบเงินดิจิทัลของตนเอง ส่วนประเทศอื่นๆอย่างเช่นไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างอยู่ในระหว่างทำการวิจัยและทดสอบระบบเงินดิจิทัล

กัมพูชาเปิดตัวโครงการสกุลเงินดิจิทัลที่สนับสนุนโดยธนาคารกลางที่ใช้บล็อคเชนที่ศึกษามานานชื่อว่า บากอง (Bakong) แม้ว่าบากองจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (เอ็นบีซี) แต่ก็ต่างจากสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางทั่วไป (ซีบีดีซี) ตรงที่ไม่ได้ออกโดยเอ็นบีซี

บากอง ออกโดยสถาบันการเงินพันธมิตร 14 แห่งในกัมพูชา ภายใต้การกำกับดูแลของเอ็นบีซี โครงการนี้จะอนุญาตให้ชาวกัมพูชาที่มีสมาร์ทโฟนสามารถทำธุรกรรมโดยใช้สกุลเงินเรียลกัมพูชา (เคเอชอาร์) หรือดอลลาร์สหรัฐได้  บากองทำงานโดยใช้แอพพลิเคชันสมาร์ทโฟน ที่จะทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล ช่วยให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินและชำระเงินโดยใช้รหัส QR ของหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งจะช่วยเพิ่มการร่วมมือทางการเงินในประเทศ

ในปี 2559 อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของกัมพูชาอยู่ที่ 93.7% ในขณะที่อัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนในปี 2563 อยู่ที่ 58% เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเพียง 20% ในปี 2556 ซึ่งตัวเลขที่น่าอัศจรรย์เหล่านี้เป็นผลมาจากการหลั่งไหลเข้าของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ราคาถูก จากแบรนด์จีนอย่างหัวเว่ย

นายชี เซเรย์ ผู้อำนวยการธนาคารกลางเอ็นบีซี กล่าวในงานเปิดตัวบากอง ในกรุงพนมเปญว่า ซีบีดีซีไม่ได้แค่ช่วยเพิ่มการรวมทางการเงินและการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยบรรเทาการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 อีกด้วย

ด้านเมียนมา เมื่อต้นปี 2563  Ant Financial (บริษัทในเครือของ Alibaba) ได้เข้ามาลงทุนในแพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลของพม่าที่ชื่อว่า Wave Money ด้วยมูลค่า 73.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2,315 ล้านบาท  ซึ่งการลงทุนดังกล่าวทำให้ Ant Financial ได้เข้าไปถือหุ้นร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิมอย่าง Yoma Group และ Telenor นั่นคือใช้เงินหยวนดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มตัวนี้นั่นเอง

อัตราการยอมรับการชำระเงินดิจิทัลในพม่านั้นเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการสำรวจของบริษัท Kantar TNS (บริษัทวิจัยการตลาดในสหราชอาณาจักร) แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ที่ส่งและรับเงินในประเทศพม่าผ่านทางมือถือมีน้อยกว่า 1% ในปี 2559 แต่อัตราส่วนกลับเพิ่มขึ้นสูงถึง 80% ในปี 2562

ในส่วนของประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศโครงการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยซีบีดีซี ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอินทนนท์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการเชื่อมต่อซีบีดีซีกับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยภาคเอกชน

ธปท. เห็นความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและความพร้อมของภาคธุรกิจที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งโครงการนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำซีบีดีซีไปเชื่อมสู่ภาคธุรกิจที่มีขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่กว้างขึ้น ในการทดสอบซีบีดีซีจะถูกเชื่อมต่อกับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน

ขณะที่ผลสำรวจของบีไอเอส ที่เผยแพร่ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า 86% ของธนาคารกลาง 65 แห่งที่ตอบผลสำรวจมีความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะมีส่วนร่วมกับงานซีบีดีซีในบางรูปแบบ และเกือบ 60% ระบุว่า “มีแนวโน้ม”หรือ”มีความเป็นไปได้ที่จะออกซีบีดีซีสำหรับการทำธุรกรรมรายย่อยในอีก6ปีข้างหน้า