คดีพลิก!! นิติเวชพม่าเผยผลชันสูตร!?! สาวเสื้อดำม็อบมัณฑะเลย์ถูกยิงดับด้วยปืนปากกา กระสุนคนละชนิดของตำรวจ?

2213

สถานการณ์ในเมียนมายังคงตึงเครียด ยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะคลี่คลายไปทางใด ล่าสุดฮือฮากับกรณีแห่ศพของเมียนมา ที่ชูการเสียชีวิตของ มะแจ สิ่นสาวเสื้อดำที่ถูกยิงในระหว่างประท้วงที่มัณฑเลย์ ขณะที่สื่อตะวันตกโหมกระพือข่าวความเหี้ยมโหดของกองทัพทำต่อประชาชน เรียกร้องต่างชาติทั้ง สหรัฐและสหประชาชาติให้บุกเมียนมา เมื่อทางการพม่าโดนประณามสองกรณีหญิงสาวที่เป็นเยาวชนถูกยิงดับเพราะตำรวจปราบจลาจล ทำให้ทางการเมียนมาตัดสินใจบุกขุดศพชันสูตร ผลก็คือคดีพลิกเมื่อ ทางนิติเวชพม่าพบว่า กระสุนฝังในศีรษะเป็นกระสุนจากปืนปากกา ยิ่งจากข้างหลังระยะใกล้ แต่แน่นอนฝ่ายประท้วงย่อมไม่ยอมรับ กล่าวหาว่าทหารจัดฉากไม่น่าเชื่อถือ กรณีนี้มีคำถามว่า “ใครกันที่ยิงใส่เธอ ถ้าไม่ใช่ตำรวจปราบจลาจลซึ่งใช้ปืนยาว และทำเพื่ออะไร?

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564 The Global New Light of Myanmar สื่อของทางการพม่า เปิดเผยผลชันสูตรศพของ “มะแจ สิ่น” ซึ่งเจ้าหน้าที่นิติเวชได้ผ่าพิสูจน์ ณ ฮวงซุ้ยที่ฝังศพของเธอในสุสาน “เอเยะเงม” ซึ่งเป็นสุสานของของชาวจีนยูนนาน ในกรุงมัณฑะเลย์ เมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา 

จากการผ่าชันสูตร เจ้าหน้าที่พบรอยแผลที่ด้านหลังใบหูข้างซ้ายบนศีรษะของมะแจสิ่น ซึ่งขัดแย้งกับลักษณะของเหตุการณ์ที่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ประท้วง ในบาดแผลได้พบชิ้นส่วนตะกั่วยาว 1.2 เซนติเมตร กว้าง 0.7 เซนติเมตร ซึ่งเป็นลักษณะของกระสุนขนาด .38 ที่ใช้สำหรับปืนสั้น ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับอาวุธที่ตำรวจหน่วยปราบจลาจลใช้ ทั้งนี้ ในข่าว The Global New Light of Myanmar ได้ลงภาพกระบอกโลหะลักษณะคล้ายปืนปากกา และเขียนบรรยายว่าปืนชนิดนี้สามารถใช้กับกระสุนขนาด .38 ได้ 

(ภาพกระสุนและปืนปากกาที่สื่อทางการพม่านำเสนอพร้อมกับข่าวผลชันสูตรศพมะแจสิ่น)

ตอนท้ายของเนื้อข่าวเขียนว่า จากผลการชันสูตร แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ไม่ต้องการให้เกิดความสงบขึ้นในประเทศ พยายามให้ความขัดแย้งที่ดำเนินการอยู่บานปลาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวผู้อยู่เบื้องหลังมาดำเนินคดีต่อไป

มะแจสิ่น วัย 19 ปี เป็นหญิงพม่าเชื้อสายจีนยูนนาน มีชื่อจีนว่า เติ้ง เจียซี ได้ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหัวมุมถนนหมายเลข 84 ตัดกับหมายเลข 30 ในกรุงมัณฑะเลย์ เมื่อเช้าวันที่ 3 มีนาคม ขณะร่วมประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร ที่ศพของเธอพบรอยกระสุนถูกยิงที่ศีรษะ และกลุ่มประท้วงได้นำการเสียชีวิตของเธอมาโจมตีกองทัพและตำรวจพม่าว่า ปฏิบัติการอย่างโหดเหี้ยมต่อผู้ชุมนุม และกล่าวหาว่าใช้สไนเปอร์มาซุ่มยิงผู้ประท้วงจนเสียชีวิต

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พยายามขอชันสูตรพลิกศพ ด้วยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ญาติของมะแจสิ่น รีบฝังศพเธอเสียก่อนในวันรุ่งขึ้น วันที่ 4 มี.ค.2564  ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องไปขออนุญาตจากศาลให้ขุดศพของมะแจสิ่นขึ้นมาผ่าชันสูตร และศาลก็อนุญาตให้ทำได้เมื่อเย็นวันที่ 5 มีนาคม โดยเจ้าหน้าที่นิติเวช ร่วมกับตำรวจ และทหาร ได้ไปขุดศพของเธอขึ้นมาผ่าชันสูตรที่สุสาน “เอเยะเงม” โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงได้นำร่างของเธอฝังกลับคืนลงไปในหลุม

ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาเคยแถลงการณ์ปฏิเสธในลักษณะนี้แล้ว ต่อกรณีการเสียชีวิตของ Ma Mya Thwet Thwet Khine ที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2564

การตอบโต้ของทางการพม่าต่อกลุ่มต่อต้าน เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศปิดสำนักข่าว 5 แห่งที่ทางการมองว่าลงข่าวบิดเบือนและยั่วยุ  ได้มีการส่งหน่วยทหารตั้งค่ายในโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ คาดว่าป้องกันผู้ประท้วงยืดเยื้อแล้วยึดเป็นฐานปฏิบัติการ เหมือนกรณีในต่างประเทศที่ฮ่องกง ขณะเดียวกันได้ปิดล้อมม็อบเยาวชนเมียนมาในย่างกุ้งกลางดึก ส่งผลให้ UNเตือนขอให้ปล่อยและห้ามใช้ความรุนแรงในทันที

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงาน ว่า กองกำลังทหารเมียนมาได้เข้ายึดพื้นที่ในโรงพยาบาลและวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์  พร้อมทั้งมีการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในเวลากลางคืน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights-OHCHR) กล่าวว่า มีโรงพยาบาลอย่างน้อยจำนวน 5 แห่ง ถูกทหารยึดไว้เมื่อวันที 7 มี.ค.2564 ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นที่ยอมรับโดยสิ้นเชิง เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเมียนมา ปิดล้อมกลุ่มผู้ประท้วงที่เป็นวัยรุ่นหลายร้อยคนในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมาในนครย่างกุ้ง เขตซานชวง พร้อมกับขู่ว่าจะตามล่าตัวแกนนำโดยบุกค้นบ้านทุกหลังในพื้นที่ดังกล่าว

ตำรวจได้ยิงปืนกระสุนยางและใช้ระเบิดแสง เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงในเขตซานชวง พร้อมกับประกาศว่าจะทำการตรวจสอบบ้านทุกหลัง และใครก็ตามมาจากต่างถิ่นและมีที่อยู่อาศัยนอกพื้นที่จะต้องถูกลงโทษ เช่นเดียวกับผู้ที่ให้ที่พักพิงกับบุคคลเหล่านี้ด้วย

ด้านโฆษกของนายอันโตนิอู กุแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเผยว่า นายกุแตร์เรสเรียกร้องให้ใช้ความอดทนอดกลั้นขั้นสูงสุด พร้อมกับขอให้มีการปล่อยตัวทุกคนให้ได้รับความปลอดภัยโดยปราศจากความรุนแรงหรือการจับกุม

เอ็มทีเค ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นของเมียนมาและชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในช่วงเช้าวันที่ 9 มี.ค.2564 ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าฝ่ายความมั่นคงจะถอนกำลังออกไป และมีรายงานผู้ถูกจับกุมในพื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว 20 คน หลังตำรวจได้บุกค้นบ้านเรือนในเขตซานชวง

ก่อนหน้านี้สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเมียนมาระบุว่า ความอดทนของรัฐบาลได้หมดลงแล้ว ขณะที่พยายามจะทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุดในการยุติการออกมาประท้วง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องการความสงบและเรียกร้องให้มีการดำเนินมาตรการอย่างจริงจังต่อกลุ่มผู้ประท้วง

ล่าสุดมีรายงานผู้ประท้วงเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 รายในวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางตอนเหนือของเมียนมาและที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี โดยขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตมากกว่า 60 ราย และอีกกว่า 1,800 คนถูกจับกุมตัว

สำนักข่าวดิอิระวดี (The Irrawaddy) รายงานว่า กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้ควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านอย่างน้อย 10 คนใน 8 เขตของย่างกุ้งเมื่อคืนวันเสาร์รวมถึงสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ผู้นำการประท้วง และพลเรือนคนอื่นๆ

ปรากฏว่า อู ขิ่น มอง ลัต ชาวมุสลิมอายุ 58 ปีประธานเขตพรรค NLD ในเขตปาเบดันเมืองย่างกุ้งเสียชีวิตในที่คุมขัง  หลังจากตำรวจและทหารพาเขาออกจากบ้าน โดยครอบครัวของเขาไปรับศพของเขาจากโรงพยาบาลทหารมิงกลาดอนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่อาจเป็นคำตอบของ ปริศนา “ใครสังหารมะแจ สิ่น” อาจอยู่ที่ ผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือไม่ ใครตั้งใจก่อความรุนแรงในขณะสื่อตะวันตกและองค์กรสิทธิป่าวร้องว่า ประชาชนเมียนมาชุมนุมโดยสงบสันติ จับตากลุ่มชาติพันธ์ุทั้งหลาย ที่ประกาศสนับสนุนการชุมนุม และคณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาพม่า (CRPH) ที่จัดตั้งโดยพรรค NLDของซูจี กล่าวอ้างว่า สภากอบกู้รัฐชาน โดยเจ้ายอดศึกสนับสนุนและขอนัดพบตัวแทนกลุ่มผู้ประท้วง แต่เจ้ายอดศึกปฏิเสธ