ลุ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ไปต่อ?!? เปิดที่มาหนี้ 1.48 แสนล้าน ของกทม. ให้ BTS รับภาระแทนแลกสัมปทาน!!

1548

มูลค่าหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวรวม 148,716.2 ล้านบาทที่กทม.แบกมาตั้งแต่รับโอนจากรฟม. ต้องเร่งสางให้จบก่อนที่ดอกเบี้ยจะเพิ่มทวีคูณ โดยกทม.เชื่อว่าครม.จะอนุมัติตามข้อตกลงเดิมม.44 ให้เอกชนรับภาระหนี้แทน ทั้งส่วนต่อขยาย ค่าเดินรถ

หนี้ 1.48 แสนล้านเป็นผลเจรจาผู้รับสัมปทานเดิม “BTSC-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ตามคำสั่ง ม.44 มีปลัดมหาดไทยเป็นประธาน โดย BTSC รับหนี้แทน กทม.แลกขยายสัมปทานสายหลักและส่วนต่อขยายถึงปี 2602 และเก็บค่าโดยสาร 15-65 บาท

ภาระหนี้ประกอบด้วย เงินลงทุนส่วนต่อขยายที่ 1 วงเงิน 18,145 ล้านบาท ชดเชยขาดทุนส่วนต่อขยายที่ 1 วงเงิน 7,090 ล้านบาท หนี้ค้างชำระเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ พ.ค. 2562 ถึงปัจจุบัน 3,737.7 ล้านบาท

หนี้ค้างชำระค่าจัดการเดินรถส่วนต่อขยายรับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตั้งแต่ปี 2560 วงเงิน 6,641.6 ล้านบาท รับภาระขาดทุนส่วนรับโอนจาก รฟม.ตั้งแต่ปี 2562-2572 วงเงิน 21,132 ล้านบาท ดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมเงินกู้ตั้งแต่ปี 2562-2565 วงเงิน 1,665.8 ล้านบาท

ใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ย คืนเงินยืมค่าเวนคืนและดอกเบี้ยค่างานระบบตั้งแต่ปี 2573 วงเงิน 88,904 ล้านบาท และชดเชยขาดทุนส่วนสัมปทานใน 3 ปีนับตั้งแต่ได้กรรมสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกทม. เปิดเผยว่า หนี้ 148,716 ล้านบาท BTSC ถือเป็นการร่วมลงทุน PPP ซึ่งงานระบบทั้งหมดที่ต้องซื้อรถเพิ่มอีก ทาง กทม.ไม่จ่ายคืน จ่ายเฉพาะค่างานโยธาส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่รับโอนจาก รฟม.และดอกเบี้ยรวมกว่าแสนล้านบาท

“กทม.นำรายได้ส่วนแบ่งค่าโดยสารจะได้ตลอดอายุสัญญาร่วม 200,000 ล้านบาท จ่ายคืนหนี้เงินต้นตั้งแต่ปี 2573 เพราะปัจจุบันจ่ายดอกเบี้ยส่วนต่อขยายสีเขียวใต้ปีละ 500 ล้านบาท สีเขียวเหนือปีละ 1,000 ล้านบาท รวม 1,500 ล้านบาท/ปี โดยการลงทุนสายสีเขียว กทม.ไม่ต้องนำเงินสดจ่ายหนี้ แต่นำเงินในอนาคตมาชำระหนี้ มีเอกชนรับภาระไปก่อน ยังเหลือเงิน 1 แสนล้านบาทเป็นรายได้อีกด้วย”

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 สภา กทม.ได้เปิดประชุมหลัง “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม.ขอดึงเงินสะสม 5 หมื่นล้านบาทมาจ่ายหนี้คืน BTSC บางส่วนหลังยื่นคำขาดให้จ่ายหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาทใน 60 วัน แต่ไม่ได้รับไฟเขียวเพราะ กทม.ยังมีภารกิจอื่นที่ต้องใช้งบประมาณ

วันนั้น “ผู้ว่าฯอัศวิน” แจงสภาหาก กทม.รับมาทำเองหลังหมดสัญญาสัมปทาน มีแต่จะขาดทุนเหมือนรถเมล์ ขสมก. ให้เอกชนทำจะมีผลประกอบการที่เป็นกำไรมากกว่า “ไม่ได้หวังกำไรสูงสุด เพราะหน้าที่รัฐจัดให้มีบริหารขนส่งสาธารณะบริการประชาชนให้ดี เพราะเราเก็บภาษีจากเขา แต่สายสีเขียวยังมีภาระหนี้ที่เกิดจากการเดินรถอยู่ ดอกเบี้ยเดินทุกวินาที”

นายประพาส เหลืองศิรินภา รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ชี้แจงสภาว่า ได้โอนค่าโดยสารที่เก็บได้และค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง/ตากสิน-บางหว้า) คืนคลังแล้ว เพราะตามผลการเจรจาตามคำสั่ง คสช.ระบุให้เอาส่วนต่างค่าโดยสารเป็นทุนใน PPP กับ BTSC

ส่วนหนี้ที่ได้รับโอนจาก รฟม.แบ่งเป็นงานโครงสร้างพื้นฐาน 55,000 ล้านบาท งานติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E & M) ที่ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) วิสาหกิจ กทม.จ้าง BTSC วงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท

ถึง กทม.เก็บค่าโดยสาร 15-104 บาท ยังขาดทุนปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท รอสัมปทานหมดปี 2572 จะขาดทุน 30,000-40,000 ล้านบาท ต้องตั้งงบฯจ่ายดอกเบี้ยประจำปีจากการเป็นลูกหนี้แทน รฟม. ที่ผ่านมาจ่ายไปแล้ว 1,000 ล้านบาท หากนับถึงปี 2572 จะต้องจ่ายเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท  ยังมีภาระภาษีนอกเขต กทม.รวม ๆ ค่าใช้จ่ายการบริหารเดินรถส่วนต่อขยายทั้งหมดและสายหลักถึงปี 2572 จะมีหนี้ที่ต้องจ่ายกว่า 140,000 ล้านบาท

นายปิยะ พูดคล่อง ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. แจงสถานะการเงิน กทม. ภาระผูกพันงบประมาณปี 2554 วงเงิน 75,500 ล้านบาท ขณะนี้จัดเก็บได้แล้ว 25,364 ล้านบาท เป็นที่แน่นอนแล้วว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเก็บแค่ 10% และขยายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนออกไปอีก ทำให้รายได้หายไป 7,000 ล้านบาท

“ปี 2563 รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า จัดเก็บได้ 65,527 ล้านบาท ต้องดึงเงินสะสมมาใช้ และปี 2564 คงจะดึงเงินสะสมออกมาใช้อีก”

ในปี 2565 ตั้งเป้าเก็บรายได้ 79,000 ล้านบาท ปี 2566 อยู่ที่ 81,000 ล้านบาท ปี 2567 อยู่ที่ 83,000 ล้านบาท แต่ต้องนำไปใช้ลงทุนด้านอื่น ๆ คงไม่พอจะนำมาชำระหนี้สายสีเขียวปี 2564 นอกจากจ่ายดอกเบี้ยช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ปีละ 500 ล้านบาท ยังมีจ่ายดอกเบี้ยช่วงหมอชิต-คูคต 1,000 ล้านบาท