เสรีพิศุทธ์ หมายหัวสิระสมคบคิดกรมป่าไม้? ลั่นไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

2710

น่าจะเรียกว่าเป็นมวยที่ถูกคู่อย่างยิ่ง ระหว่างหัวหมู่ทะลวงฟันจากค่ายพลังประชารัฐ อย่าง สิระ กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จากค่ายเสรีรวมไทยที่วันนี้ฟ้องกันอุตลุด ล่าสุดเกี่ยวเนื่องจากกรมป่าไม้เอาผิด วีรบุรุษนาแก สร้างท่าเรือรุกลำน้ำ???

โดยคดีเริ่มจากที่ นายธีรวัฒน์ แย้มสะอาด เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน นำบันทึกพร้อมเอกสารหลักฐาน แจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นผู้ยื่นขออนุญาต

คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ร่วมกันตรวจสอบกรณีการก่อสร้างท่าเทียบเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ติดต่อโฉนดที่ดินเลขที่ 4295 ตำบลบางกระบือ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับการประสานจากสถานีตำรวจนครบาลบางโพ แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุและสอบปากคำในคดีอาญา ตามประเด็นดังนี้

1 การปลูกสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าวต้องขออนุญาตอธิบดีกรมป่าไม้หรือไม่ หากต้องขออนุญาตแล้ว ได้มีการขออนุญาตต่ออธิบดีกรมป่าไม้หรือไม่ และอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือไม่อย่างไร

2 การปลูกสร้างท่าเทียบเรือล่วงล้ำแม่น้ำที่เกิดเหตุดังกล่าวเป็นการปลูกสร้างเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนหรือผู้อื่นในที่สาธารณประโยชน์ ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือไม่อย่างไร คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจสอบจากเอกสารหลักฐานที่ส่งมาพร้อมหนังสือสถานีตำรวจนครบาลบางโพ ดังกล่าวข้างต้น

พบว่าท่าเทียบเรือดังกล่าวมีใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ใบอนุญาตเลขที่ 18/2544 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ออกตามความในมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือ(ตรวจสอบพบชื่อผู้ขออนุญาตระบุชื่อ พล.ต.ท.เสรี เตมียเวส ในขณะนั้น) พุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือฯ (ฉบับ 14) พ.ศ.2535 มีขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส และมีขอบเขตขนาดความกว้าง 10.35 เมตร ความยาว 21.35 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 0-0-55.24 ไร่

ตรวจพบมีท่าเทียบเรือดังกล่าวข้างต้นอยู่จริง เป็นตำแหน่งเดียวตรงกับแบบเอกสารคำขออนุญาตก่อสร้างสิ่งลวงล้ำลำน้ำ ที่ยื่นต่อกรมเจ้าท่า ตามใบอนุญาต เลขที่ 18/2544 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมในปี พ.ศ.2544 พบว่า ยังไม่ปรากฏการก่อสร้างท่าเทียบเรือแต่อย่างใด และต่อมาปี พ.ศ.2545-2546 พบมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือแล้ว ซึ่งภาพถ่ายปัจจุบัน พ.ศ.2563 ยังปรากฏท่าเทียบเรือดังกล่าวอยู่ ซึ่งเป็นการยึดถือหรือครอบครองมาอย่างต่อเนื่องข้อกฎหมาย

(1) พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่า เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรม และรัฐมนตรี ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือโดยได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”

(2) บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 121/2555 ได้พิจารณาและให้ความเห็นบทนิยามคำว่า “ป่า” ตามมาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ประกอบกับการได้มาซึ่งที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน “ป่า” จึงหมายถึงที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลใดได้กรรมสิทธิ์หรือได้สิทธิครอบครอง ซึ่งรวมไปถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ชายตลิ่ง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่เป็นที่ดินของรัฐด้วย และแม้บทนิยามคำว่า “ที่ดิน” มาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มิได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้หมายความรวมถึงแม่น้ำด้วย แต่เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “แม่น้ำ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งหมายถึง ลำน้ำใหญ่ซึ่งเป็นที่รวมของลำธารทั้งปวง “แม่น้ำ” จึงเป็นลำน้ำใหญ่และถือเป็นส่วนหนึ่งของความหมายของบทนิยามคำว่า “ที่ดิน” ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

(3) จากตรวจสอบการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งสำนักการอนุญาตได้มีหนังสือกองการอนุญาต ด่วนที่สุด ที่ ทส 1602.43/530 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง ขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐาน และขอให้เจ้าหน้าที่ให้ถ้อยคำ แจ้งว่า ไม่พบเรื่องราวคำขออนุญาตในกรณีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่า เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ติดกับโฉนดที่ดินเลขที่ 4295 ตำบลบางกระบือ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร แต่อย่างใด

ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นการกระทำผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ฐาน “ก่อสร้าง หรือยึดถือ หรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษตามมาตรา 72 ตรี และมอบหมายให้นายคม ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 1 ภาคกลาง เป็นพยาน

สำหรับที่มาของคดีนี้พบว่า นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร นำสื่อมวลชนลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ นายสิระ กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมีการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ท่าเรือและกำแพงบ้านที่อยู่ในบริเวณบ้านหลังใหญ่ อยู่ติดกับวัดจันทร์สโมสร ถัดจากรัฐสภาใหม่ เพียงไม่เกิน 500 เมตรซึ่งบ้านหลังนี้มีสัญลักษณ์ของตำรวจ หรือไม่ก็เป็นตำรวจ จึงอยากให้มีการตรวจสอบว่าเหตุใดกรมเจ้าท่าปล่อยให้มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ กรมเจ้าท่าเคยแจ้งความต่อ สน.บางโพ ให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เป็นไปตามแบบที่ยื่นขออนุญาตต่อกรมเจ้าท่า ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เคยชี้แจงว่า การก่อสร้างดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องและกรณีดังกล่าวอัยการสั่งไม่ฟ้อง

ล่าสุดวันนี้ 11 กุมภาพันธ์ 2564  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวถึงกรณีกรมป่าไม้ดำเนินคดีฐานความผิดสร้างบ้านรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ว่าเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างตนกับนายสิระที่ไปสมคบคิดกับพวกนักร้องและกรมป่าไม้ เนื่องจากนายสิระโดนตนเองฟ้องอยู่หลายคดี ประกอบกับนายสิระ พยายามทำผลงาน เรียกเงินจากพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่าคดีดังกล่าว อัยการเคยยกฟ้องไปแล้วเมื่อปี 2552 ที่ตนไม่ได้ขออนุญาตกรุงเทพฯในการก่อสร้างเนื่องจากเข้าใจว่าขออนุญาตเพียงกรมเจ้าท่าเท่านั้น

“การดูแลการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอำนาจของหน่วยงานใด กรมป่าไม้มีสิทธิ์อะไรมาดำเนินคดีกับตน ทั้งที่เรื่องการก่อสร้างท่าเทียบเรือเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมเจ้าท่า มิเช่นนั้นโรงแรมต่างๆรวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำและสภาก็คงผิดกันหมด เพราะไม่ได้ขออนุญาตกรมป่าไม้เลย

จะพิจารณาดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมถึงขณะนี้ได้ส่งเรื่องถึงคณะรัฐมนตรี ให้เรียกคืนเครื่องราชฯ นายสิระ เนื่องจากเคยติดคุกมาก่อน หากเป็นสมัยตนหนุ่มๆ พวกนี้ไม่เหลือแน่ ไปถามความหมายของวีรบุรุษนาแก ได้เลยว่าตนได้ฉายามาได้อย่างไร นายสิระกับตนเองเป็น ส.ส. ที่ศีลไม่เสมอกัน เพราะตนเองเป็น ส.ส. ที่ควบตำแหน่งอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่นายสิระ เป็น ส.ส.ที่เคยเป็นอดีตนักโทษ พวกไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ปลายปีนี้เจออีกคดีแน่”

ส่วนที่กรรมาธิการกฎหมายเตรียมเรียกตนเองไปชี้แจงเรื่องนี้นั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ไม่ไป เพราะกรรมาธิการการกฎหมายไม่มีอำนาจในการตรวจสอบในเรื่องนี้ ซึ่งกรรมาธิการของตนเคยตรวจสอบและดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ในทางตรงกันข้ามตนจะตั้งคณะกรรมการสอบนายสิระ แทนที่หยิบเรื่องนี้เข้ามาพิจารณา

สำหรับฉายา วีรบุรุษนาแก  ทางทีมข่าวเดอะทรูธ ได้ตรวจสอบไปก็พบว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เคยรับราชการอยู่ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ช่วง พ.ศ. 2515-2524 โดยได้ต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดเดี่ยว และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลา เข็มกล้ากลางสมร และเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้ทำพิธีสถาปนาให้เป็นขุนพลของประชาชน ณ ศาลาประชาคม ด้วยผลงานปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ จนได้รับการขนานนามว่า “วีรบุรุษนาแก”