เปิดศาลเยาวชนฯ : เยาวชนร่วมม็อบทยอยโดนฟ้องกราวรูด เผย OHCHR ก็ช่วยไม่ได้

3580

เสียงของนายกลุงตู่ที่แสดงความเป็นห่วงเป็นใยเยาวชนของชาติ โดยมีผู้ใหญ่แอบอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหลายคดีมีความสุ่มเสี่ยงที่อนาคตจะหมดลง เพราะจะอ้างเป็นเด็ก เยาวชนไม่ได้ นั่นเพราะกระบวนการยุติธรรมไทยมีระบบของศาลเยาวชนฯไว้พิจารณาคนทำผิดในวัยดังกล่าวด้วย

โดยหากย้อนไปเป็นคดีตัวอย่าง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563  ที่สน.ยานนาวา น.ส.จตุพร แซ่อึง และ นายนภสินธุ์ อายุ 16 ปี สมาชิกกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดี ม.112 หลังกิจกรรมแฟชั่นโชว์ที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม หลังรับทราบข้อหา ตำรวจได้นำตัวเยาวชนอายุ 16 ปี พร้อมด้วยทนายความสิทธิมนุษยชน ส่งไปยังศาลเยาวชนเเละครอบครัวกลาง

ต่อมาที่ศาลเยาวชนเเละครอบครัวกลาง โดยผู้ต้องหาได้ยื่นคัดค้านการขอออกหมายคุมตัวของพนักงานสอบสวนพร้อมขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน โดยอ้างเหตสรุปว่าไม่มีเหตุที่จะคุมตัวเนื่องจากผู้ต้องหาได้เข้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก เเละผู้ต้องหายังศึกษาอยู่ที่สถานศึกษาตามปกติและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอนและไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ประการใดจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องออกหมายควบคุมหรือหมายขังผู้ต้องหาไว้

 

ทั้งคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนผู้ต้องหาจนเสร็จแล้วรวมทั้งได้ทำการสอบประวัติ และพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ด้วยแล้วการสอบสวนคดีในส่วนที่เหลือ และการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างในคำร้องขอศาลออกหมายควบคุมฯ นั้นล้วนเป็นเรื่องการดำเนินการของพนักงานสอบสวนกับบุคคลอื่นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการไปได้โดยไม่ต้องมีตัวของผู้ต้องหา แต่อย่างใด

หากผู้ต้องหาต้องอยู่ในความควบคุมระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนย่อมจะเป็นการควบคุมตัวที่เกินจำเป็นนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังสร้างภาระเกินจำเป็นกับผู้ต้องหากระทบต่อสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาเป็นอย่างมากประการสำคัญเป็นการกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเพียงเยาวชนอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็นและเป็นการกระทบต่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้ต้องหา

ศาลพิเคราะห์คำร้องของพนักงานสอบสวนให้ศาลพิจารณาตรวจสอบการจับกุม เเละมีคำสั่งออกหมายควบคุมตัวพร้อมคำคัดค้านเเล้ว เเล้วเห็นว่าคำคัดค้านการควบคุมตัวของตำรวจกรณีเป็นกระบวนพิจารณาชั้นตรวจสอบการจับกุมซึ่งดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการ(ไต่สวน)ตามร้องคัดค้านรวมสำนวนไว้

โดยหลังจากนั้นผู้ต้องหาได้ยื่นขอปล่อยชั่วคราว โดยใช้ตำเเหน่ง ส.ส.ของ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ยื่นประกันตัว ซึ่งศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเเล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตั้งแต่ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นหากผิดสัญญาปรับ12,000 บาทใช้ตำแหน่งประกัน เเละนัดไปศูนย์ให้คำปรึกษาเ เละเเนะนำในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 พร้อมรายงานตัวรับทราบคำสั่งศาลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอีกคดีนั่นคือเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัวมีความเห็นสั่งฟ้อง “มิน”ลภน พัฒน์, “พลอย” เบญจมาภรณ์ กลุ่มนักเรียนเลว และ “ภูมิ”คณพศ กลุ่มนักเรียนไท ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และส่งสำนวนฟ้องไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

ทั้งนี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีเยาวชนเเละครอบครัว 3 ได้นัดฟังคำสั่งในคดีที่คดีพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องเยาวชน 3 คน ได้แก่ มิน อายุ 18 ปี (ขณะกระทำผิดอายุ 17 ปี), พลอย อายุ 16 ปี และภูมิ อายุ 16 ปี กลุ่มนักเรียนเลวและนักเรียนไท ในความผิดคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 จากการขึ้นปราศรัยการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563 บริเวณแยกราชประสงค์ จากก่อนหน้านี้ที่ได้มีการยื่นผัดฟ้องฝากขังต่อศาลเยาวชนตั้งเเต่วันที่ 24 ธันวาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอนของศาลเยาวชน ส่วนใหญ่ศาลจะให้ผู้ปกครองทำสัญญาประกันไว้โดยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว ขณะที่ มิน ลภนพัฒน์ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่อัยการมีคำสั่งฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งเราได้มีการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และยื่นสอบพยาน 2 ปากที่ให้การยืนยันว่าการออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองของเยาวชนไม่ผิดกฎหมาย รวมถึงไทยยังต้องเคารพอนุสัญญาระหว่างประเทศที่คุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กลัวหรือท้อไหม มิน ลภนพัฒน์กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกอะไรแบบนั้นเลย รู้สึกผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรมของไทยมากกว่า

และ มิน ลภนพัฒน์ ยังฝากถึงเพื่อนๆ ที่เคยออกมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองว่า “เรายืนยันในความบริสุทธิ์ตลอดว่าการออกมาร่วมชุมนุมคือการออกไปแสดงสิทธิเสรีภาพที่เรามีในฐานะประชาชน แม้เราจะถูกดำเนินคดี แต่เราจะไม่หยุดกิจกรรมทางการเมือง และหวังว่าเพื่อนๆ และคนอื่นๆ จะยังต่อสู้ เพื่อสักวันหนึ่งเราได้เห็นประชาธิปไตยในประเทศนี้”

ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์และไม่มีเงื่อนไขการประกันตัวใดๆ แต่ให้ผู้ปกครองทำสัญญาประกัน หากไม่มาตามนัดจะถูกปรับ 5,000 บาท โดยศาลนัดอีกครั้งวันที่ 10 มีนาคม และ 19 เมษายนนี้

นั่นคือสองตัวอย่าง จากการถูกดำเนินคดีของเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบ ซึ่งยังมีอีกความเคลื่อนไหวล่าสุด พบว่าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความถึงคดีของแกนนำม็อบ แนวร่วม และเยาวชน ที่ถูกส่งฟ้องศาลว่า

ที่ สน.ลุมพินี “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรม และเอกศิษฐ์ บัวทองเอี่ยม นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มภาคีนักศึกษาศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางเข้ารับทราบข้อหาเพิ่มเติม จากกรณีชุมนุม #ม็อบ15ตุลา หรือ #15ตุลาไปราชประสงค์ ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63

เดิมทั้งสองถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อมา พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จึงส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาไปยังอัยการ แต่อัยการส่งคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนสอบและแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม 5 ราย ว่า “ร่วมกันกระทำการ” ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดย 2 รายเข้ารับทราบข้อหาเพิ่มไปก่อนหน้านี้แล้ว

ชลธิชาและเอกศิษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันรับทราบข้อหาคดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 17 ราย แบ่งเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในที่ชุมนุม 1 ราย ออกหมายจับ 12 ราย และออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อหาภายหลังอีก 4 ราย

นอกจากนี้ ยังมีผู้รับจ้างขับรถเครื่องเสียงและทีมงานถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันนี้อีก 6 ราย จากการนำรถเครื่องเสียงไปในที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 หลังการสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำหลายคนในช่วงเช้ามืด

รวมทั้งมีเยาวชน 3 รายถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ท่ามกลางความกังวลจากสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ต่อการสั่งฟ้องคดีเยาวชน”

ฉะนั้นหากฟังจากเสียงวิตกกังวลของนายกฯลุงตู่แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ เสียงเตือนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการตัดสินใจของลูกหลาน ว่าการเข้าร่วมชุมนุมนั้นเป็นสิทธิ์แต่ เมื่อกระทำความผิดก็ต้องรับผลแห่งการกระทำนั้น หากแต่เหนืออื่นใดที่ควรตระหนักคือบรรดาผู้ใหญ่ที่ปลุกปั่นเด็กๆคอยแอบชักใยอยู่ข้างหลัง นี่ต่างหากที่รัฐบาลจะต้องลากคอมาก่อนเยาวชนไทยจะหมดอนาคตไปมากกว่านี้!?!!