รัฐบาลอุ้มเกษตรกร นบข.เห็นชอบหลักการประกันรายได้ สนับสนุนสินเชื่อ ค่าบริหารจัดการ และพร้อมยกระดับพันธุ์ข้าวไทย

2512

นบข.ไฟเขียวหลักการประกันราคาข้าว ให้อนุกรรมการฯเสนอจำนวนเงินที่เหมาะสมให้สอดคล้องต้นทุนการผลิตต่อไป ที่ประชุมหนุนโครงการคู่ขนาน โดยจัดสินเชื่อ, ชดเชยดอกเบี้ย และอุดหนุนค่าบริหารจัดการ เพื่อดูแลเกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นรม.ย้ำเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเป็นเรื่องสำคัญ

18 มิ.ย.2563 ที่ประชุมนบข.เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้และ มาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 63/64 เพื่อช่วยพี่น้องชาวนา

นางสาวรัฐบาล ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม และนายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี2563/2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 63 – 31 พ.ค. 64 โดยให้ใช้แนวทางการดำเนินการเหมือนปีที่ผ่านมา และให้อนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดกฎเกณฑ์กลางราคาอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปพิจารณาราคาประกันรายได้ต่อครัวเรือน และนำกลับมาเสนอคณะกรรมการนบข.อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลชาวนาสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตอย่างแท้จริง

ส่วนมาตรการคู่ขนานประกอบด้วย
1. มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 ผ่าน 1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินรวม 1.98หมื่นล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 1.55หมื่นล้านบาท 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ในอัตราชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 วงเงินรวม 610 ล้านบาท ทั้งสามโครงการนี้ คาดว่าจะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกมาสู่ตลาดมาก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก
2. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อัตราสนับสนุน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท
3. โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก และโครงการยกระดับคุณภาพและต่อยอดด้านการตลาดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย

นอกจากนั้น ที่ประชุมรับทราบ
1. การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี2562/2563 ตั้งแต่ 15ต.ค. 62 – 31 พ.ค. 63 จ่ายแล้ว 30 งวด จำนวน 1.1 ล้านครัวเรือน จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท ร้อยละ92.67 ของงบประมาณ (งวดที่23-27 ไม่มีการจ่ายชดเชยเนื่องจากราคาอ้างอิงของข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเหนียวสูงกว่าราคาประกันรายได้)
2. การดำเนินการมาตรการคู่ขนานเพื่อชะลอการจำหน่ายข้าว ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก สามารถดึงอุปทานได้รวม 5.13 ล้านตัน
3. มาตรการสนับสนุนต้นทุนการผลิต และมาตรการการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว จ่ายเงินแล้วมาตรการละ 4 ล้านกว่า ครัวเรือน

สำหรับสถานการณ์ด้านการผลิตข้าวทั่วโลกปี 63/64 นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านตัน จาก 493.79 ล้านตัน เป็น 501.96 ล้านตัน

สต๊อกข้าวทั่วโลก ณ ปลายปี 63/64 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.83 ล้านตัน เป็น 184.18 ล้านตัน โดยจีนมีสต๊อกข้าวมากที่สุด รองลงมา คือ อินเดียและไทย

ทั้งนี้ภูมิภาคที่ซื้อเข้าจากไทยมากที่สุด คือ แอฟริกา 4.11 ล้านตัน ในปี 2562

ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกข้าวไทยในปี 2563 ได้แก่ การได้รับการจัดสรรโควต้าส่งออกไปเกาหลีใต้ ปริมาณ 2.8 หมื่นตันต่อปี และการที่ญี่ปุ่นเปิดประมูลข้าวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นโอกาสของข้าวไทย

“นายกรัฐมนตรีฯได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิต โดยกำชับให้กรมการข้าว หน่วยงานวิจัยภาครัฐและเอกชน รวมถึงเครือข่ายเกษตรกรร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพข้าวและการใช้พันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองให้ได้อย่างกว้างขวาง” นางสาวรัชดา กล่าว

……………………………………………..