ใครไฟเขียวรื้อเกณฑ์ใหม่ประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม?!? มูลค่า 1.42 แสนล้านลบ. ล้มประมูลไม่รอศาลตัดสินไม่จบง่าย กล้าทำต้องกล้ารับผิดชอบ??

1782

การล้มโต๊ะประมูลรถไฟฟ้าสีส้มของรฟม.เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงว่า “ช่างกล้า” เมื่อกล้าทำก็ต้องกล้ารับผิดชอบผลที่จะตามมา ล่าสุดกระทรวงคมนาคมเมิน ถ้าถูกเอกชนฟ้องที่ไฟเขียวให้รฟม.ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หนีคำตัดสินของศาลสูง ทำให้ข้อสงสัยว่าปัญหาวุ่นวายของรถไฟฟ้าไม่ว่าสายสีส้ม-สีเขียวพัวพันยุ่งเหยิงนั้นมีการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนดูเข้าเค้าน่าจะมีมูลความจริง แม้มีท่าทีจะหาคนผิดมารับผิดชอบก็ตาม ตอนจบคงได้เห็นว่าใครจะถูกจับขึ้นเขียง  ขณะที่ภาคเอกชนBTS ขอดูรฟม.แจ้งอย่างเป็นทางการก่อน จ่อฟ้องอีกรอบตามสิทธิ์ เรื่องนี้ กทม.อ่วม โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะหนี้ที่รับมาแบกอยู่ ยังไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ สุดท้ายต้องถึงลุงตู่ คาดจบที่ครม.และศาลชี้ขาด

ประเด็นร้อนยืดเยื้อเกิดข้อพิพาทวุ่นอิลุงตุงนังมาหลายเดือนคือ ปัญหาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ของการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท 

เมื่อวานนี้ (4 ก.พ.2564) กระทรวงคมนาคมชี้ว่า การปรับเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบ 2 จะเพิ่มการคิดคะแนนเทคนิคหรือไม่จะต้องเปิดฟังความเห็นจากภาคเอกชนก่อน  พร้อมเสนอ ครม. ชี้คาดให้ใช้เปิดประมูลใช้เวลานานขึ้นแม้จะกระทบระยะเวลาตามแผนใหญ่ มั่นใจ รฟม.ชี้แจงได้หากเอกชนยื่นฟ้อง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อีกทั้งมติดังกล่าวอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ม.36 ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า การยกเลิกประมูลโครงการที่อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาข้อเสนอเอกชนนั้น ที่ผ่านมาโครงการลงทุนในกระทรวงคมนาคมเคยยกเลิกประมูลมาก่อน อาทิ โครงการงานโยธาทางด่วนพระราม 3 ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอและมีเอกชนยื่นฟ้องต่อศาล ส่งผลกระทบต่อโครงการต้องหยุดชะงักและล่าช้ากว่าแผน ซึ่งท้ายที่สุด กทพ.ยกเลิกและประมูลใหม่และเอกชนก็ไม่ได้ยื่นฟ้องต่อการยกเลิกประมูล

ทั้งนี้ เอกชนมีสิทธิ์ฟ้องร้องต่อทุกโครงการที่ภาครัฐดำเนินการอยู่แล้ว หากพบว่าการดำเนินการของภาครัฐไม่โปร่งใสก็ยื่นฟ้องเพื่อตรวจสอบได้ โดยในส่วนของการยกเลิกประมูลรถไฟฟ้ายสีส้ม กระทรวงคมนาคมเชื่อว่าหากมีเอกชนยื่นฟ้องเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ รฟม.จะชี้แจงได้ เพราะต้องมีการศึกษาผลกระทบและต้องเตรียมคำชี้แจงเอกชนอย่างเหมาะสมแล้ว

สำหรับเหตุผลของการยกเลิกประกวดราคาเบื้องต้นทราบว่าคณะกรรมการ ม.36 เห็นว่ากระบวนการในชั้นศาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ อีกทั้งยังผิดไปจากคาดการณ์ของคณะกรรมการ ม.36 ที่ประเมินว่าจะได้ข้อยุติเรื่องที่เอกชนไปร้องต่อศาล ภายใน 1–2 เดือน ซึ่งปัจจุบันเวลาล่วงเลยมานานแล้ว และอาจกระทบต่อภาพรวมของโครงการ กระทบต่อการเปิดให้บริการ อีกทั้งจะทำให้มีภาระค่าบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี ที่ปัจจุบันงานก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ

“หากสาเหตุของการพิจารณายกเลิกประกวดราคาเป็นไปตามที่คณะกรรมการคัดเลือกเปิดเผยต่อสื่อ เกรงว่าหากรอกระบวนการศาลต่อไป ไม่มีความแน่ชัดว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จะกระทบต่อภาพรวมโครงการ ดังนั้นตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าโครงการนี้เหลือเวลาไม่มากแล้วที่จะต้องเร่งประมูลหาเอกชนร่วมลงทุน เพราะสายสีส้ม ช่วงตะวันออก ก่อสร้างจะเสร็จปี 2565 นี้แล้ว” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมประเมินว่าหาก รฟม.มีเวลาจำกัดในการจัดหาเอกชนร่วมลงทุน แนวทางที่เหมาะสมและใช้เวลาน้อยที่สุดในขั้นตอนประกวดราคา คือ การเดินหน้าขายเอกสารข้อเสนอ (RFP) ตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ในครั้งแรก คือ พิจารณาซองด้านเทคนิค และมาให้คะแนนชี้ขาดที่ซองราคา จากการเสนอให้ผลตอบแทนรัฐสูงสุด เพราะเป็นหลักเกณฑ์ที่ผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นหาก รฟม.จะเริ่มต้นขั้นตอนขายซองใหม่จะใช้เวลาไม่มาก

แต่หาก รฟม.จะใช้หลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอเอกชน ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ที่ประกาศเพิ่ม จนเป็นเหตุให้มีเอกชนไปฟ้องร้องในกระบวนการศาล คือ กำหนดให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน ก็มีความจำเป็นที่ รฟม.จะต้องร่าง RFP ใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็น และเสนอร่างดังกล่าวมายังกระทรวงคมนาคม ก่อนรายงานที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และเปิดประกวดราคาภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งกรณีนี้จะต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก

กระทรวงคมนาคมแย้มว่า จะตรวจสอบการดำเนินงานของ รฟม.เกี่ยวกับการประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มในครั้งประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบแรกด้วย เนื่องจากพบว่า รฟม.ประกาศเปลี่ยนหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอของเอกชน โดยไม่ได้หารือกับกระทรวงฯ แต่อ้างว่าเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงฯ ต้องการตรวจสอบว่า สคร.มีคำสั่งเป็นข้อบังคับ หรือเป็นเพียงคำแนะนำ

เรามาทวนเหตุการณ์ต่างๆให้รฟม.และกระทรวงคมนาคมทราบว่า สาธารณชนและองค์กรผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายคงจะไม่ปล่อยผ่านให้เรื่องนี้จบไปเพียงเพราะคว่ำการประมูลฯ

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปแจ้งความกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามพระราชบัญญัติ​ (พ.ร.บ.)​ ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (มาตรา 36) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 เปลี่ยนแปลง TOR หลังพบข้อพิรุธ อาทิ การพิจารณาจะแยกซองเทคนิคหากผ่านตามเกณฑ์ จึงจะเปิดซองการเงินตามลำดับ แต่การประกวดครั้งนี้กลับนำซองเทคนิคมาคิดคะแนนรวมกับซองการเงิน โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนน 30/70 หากรายใดได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะได้รับการคัดเลือก และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการฯ ซึ่งอาจมีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จึงต้องขอให้ DSI ช่วยตรวจสอบ

วันที่ 14 ต.ค. 2563 มีรายงานว่า ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนในคดีที่ BTSC ยื่นฟ้อง คกก.คัดเลือกตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (มาตรา 36) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และพวกรวม 2 คน โดยขอให้เพิกถอนมติ คกก.คัดเลือกฯ กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข TOR ที่ให้นำข้อเสนอทางด้านเทคนิคมาให้คะแนนควบคู่กับข้อเสนอด้านราคา หลังจากที่มีการปิดการขายซองประมูลไปแล้ว

ผลจากการเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ทั้งที่ขายซองไปแล้ว  ทำให้ ”BTS” มองว่าไม่เป็นธรรม จึงยื่นหนังสือ สคร., คณะกรรมการ รฟม. และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ยื่นต่อศาลปกครอง และเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 BTS ชนะยกแรก เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การประเมินที่แก้ไขเพิ่มเติมของ รฟม. และระบุว่ากระบวนการประมูลให้ทำต่อไปได้ โดยให้ใช้เกณฑ์เดิม ขณะที่ “รฟม.” ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดช่วงต้นเดือน พ.ย. 2563

เมื่อวันที่ 4 พ.ย.​ 2563 สมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน (ประเทศไทย) และเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ได้ไปร้องเรียนกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบผู้ว่าการ รฟม. รวมถึงคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยให้เหตุผลในลักษณะ​เดียวกันกับ BTSC

ล่าสุด วันที่ 4 ก.พ.2564 รฟม.ประกาศล้มการประมูล ไม่รอฟังคำตัดสินของศาลสูงสุดและยังประกาศจะเดินหน้าประมูลต่อทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า ที่แก้เกณฑ์ใหม่กระทันหันนั้นทำมาแล้วผิดหรือถูก ศาลคงไม่ยกเลิกการพิจารณาตัดสิน และคงต้องติดตามต่อไปว่า รฟม.จะใช้หลักเกณฑ์​ใดในการประมูล และจะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ BTS จะฟ้องเมื่อไหร่ กทม.จะทำอย่างไรกับหนี้เก่าหนี้ใหม่ หนี้เก่าของรฟม.ที่โอนมาให้กทม.รับพร้อมสิทธิ์บริหาร และหนี้ค่าจ้างBTS รวมๆกันแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ???