ก.การคลังพร้อมหนุนต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว!?! แลกเอกชนแบกหนี้แทนรัฐ กว่า 1 แสนล้าน ไม่ผิดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

1828

กระทรวงการคลังไม่คัดค้านการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี ค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 65 บาทมีเหตุผล มองว่าถ้าโอนส่วนต่อขยายกลับไปให้รฟม.ไม่มีประโยชน์ รัฐต้องกลับไปแบกรับหนี้เดิม 98,000 รวมดอกเบี้ยอ่วม หากเปิดประมูลใหม่ใครจะกล้าลงทุน เพราะเท่ากับBTS ถูกหน่วยงานรัฐหลอกให้ทำเก้อ ซ้ำยังไม่ได้เงินค่าจ้างค้างจ่ายจากกทม.เกือบ 9,000 ล้านบาทอีกด้วย  จับตาบทสรุปผลกระทบการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลังรฟม.ล้มโต๊ะประมูลสีส้ม

วันนี้ข่าวล่าสุด รฟม.มีมติล้มประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม เรียบร้อยกระทรวงคมนาคมแล้ว รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)แจ้งว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้พิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ รวมถึงสถานะของการดำเนินงานในปัจจุบันและเห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าทางคดีจากศาลฯ  ส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์กรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ ซึ่งหากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไปอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้การคัดเลือกเอกชนเกิดความล่าช้า และอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในภาพรวม

ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ จึงมีมติโดยสรุปว่า ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนสายสีส้มฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และได้มอบหมายให้ รฟม.พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

เอาล่ะจบกันแบบง่ายๆงง แบบนี้ ก็ต้องจับตา การประมูลสายสีเขียวกันต่อไปว่า จะเป็นอย่างไร เพราะทุกฝ่ายต่างจับจ้องมองมา ว่าสายส้มกับสายเขียวมันเกี่ยวพันกันจนแยกไม่ออก เพราะการเมือง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังยืนยันว่า คลังยังยึดความเห็นเดิมที่ไม่คัดค้านการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัทขนส่งมลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการ รถไฟฟ้าบีทีเอสระยะเวลา 30 ปี

คลังมองว่าที่ผ่านมาสาเหตุความขัดแย้งอาจเป็นประเด็นการเมือง โดยก่อนหน้านี้การเจรจาระหว่างภาครัฐและผู้รับสัมปทาน BTSC ไม่ได้มีข้อขัดแย้งแต่อย่างใด ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่เพิ่งมีการคัดค้านเปลี่ยนแปลง หลังจากมีข้อพิพาทเรื่อง การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้ามาเกี่ยวข้อง

“เรื่องที่เอกชนเสนอมา ราคาค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 65 บาทมีเหตุมีผล ที่ผ่านมาก็ได้นั่งฟรีมาระยะหนึ่งแล้ว”

กรณีกรุงเทพมหานครทำข้อตกลงกับ BTSC เป็นไปตามมาตรา 44 นอกจากนี้หน่วยงานของกระทรวงการคลัง ก็มีความเห็นพ้องกันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และกระบวนการคัดเลือกผู้รับสัมปทาน ไม่ได้ขัดต่อพ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่ เนื่องจากได้รับการยกเว้นตามมาตรา 44

ทั้งนี้หากโอนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปให้ รฟม.รับผิดชอบแทนกทม. รัฐบาลก็ต้องไปแบกหนี้เก่าที่โอนไปให้กทม.รับไปด้วยพร้อมกับตอนโอนโครงการนี้ไป ปัญหาก็จะย้อนกลับมาแบบเดิมอีก  ที่ผ่านมามีบทเรียน ส่วนต่อขยายมักไม่มีกำไร เช่นรถไฟฟ้าสายสีม่วง รัฐก็ต้องไปสนับสนุนการก่อสร้างด้วยจึงไม่เกิดประโยชน์อันใดส่วนข้อเสนอให้ประมูลใหม่ เอกชนรายใดใครจะกล้ามาลงทุน เมื่อตกลงกันแล้วก็ยังมีการบิดพริ้วกันได้ เพราะบริษัทเอกชนต้องแบกรับความเสี่ยงเอง

บทสรุปเรื่องนี้อย่างไรก็ต้องถือมือ นายกรัฐมนตรี “ลุงตู่”อย่างแน่นอน เพราะถ้านายกไม่กล้าตัดสินใจ คนไทยก็ต้องจ่ายค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย 104 บาทตามคำประกาศของกทม.ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.นี้!