ศบค.พบผู้ป่วยรายใหม่พุ่ง 829 แต่รายพื้นที่ลดลงเหลือติดเชื้อ 12 จังหวัด รองผบช.น. สั่งระดมตำรวจ 3 พันนาย รับมือเปิดเทอมวันแรก

2359

พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก (ศบค.) แถลงสถานการณ์ “โควิด” ว่า ผู้ป่วยใหม่วันนี้ 829 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 822 ราย (ตรวจพบระบบเฝ้าระวัง และระบบบริการ 91 ราย จากตรวจค้นหาเชิงรุก 731 ราย)

เดินทางจากต่างประเทศ เข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 7 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 18,782 ราย รักษาหายเพิ่ม 110 ราย สะสม 11,615 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ 7090 ราย วันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 77 ราย

 

 


ขณะที่ทางด้านนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในภาพรวมสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและสามารถติดตามควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับที่น่าพอใจ กรุงเทพมหานครจึงเห็นควรยกเลิกการตั้งด่านตรวจคัดกรองการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ วันที่ 29 ม.ค.64

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมส่วนรวมตระหนักถึงความสำคัญของการเคลื่อนย้ายประชาชน ที่อาจเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รวมทั้งกระตุ้นเตือนให้ประชาชนระมัดระวังตนเองการ์ดไม่ตกจึงให้คงตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ ต่อไปอีก 5 จุด โดยประสานกองบัญชาการตำรวจนครบาล กอ.รมน.กทม. อปพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมปฏิบัติภารกิจ และสำนักงานเขตต่างๆ หมุนเวียนสับเปลี่ยนปฏิบัติงานประจำจุดตรวจ

สำหรับจุดตรวจที่ให้คงไว้ประกอบด้วย

1. จุดถนนบรมราชชนนีบริเวณจุดตัด ถ.พุทธมณฑลสาย 3 ตัด ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา

2. จุดถนนเพชรเกษม บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เขตหนองแขม

3. จุดถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน

4. จุดถนนเอกชัยบางบอนบริเวณหน้าโรงเรียนศึกษานารี เขตบางบอน

และ 5.จุดถนนบางนา-ตราดบริเวณหน้าครัวเจ๊ง้อ เขตบางนา ทั้งนี้ให้เริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ วันที่ 31 ม.ค. 64 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป


นอกจากนี้พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รับผิดชอบงานจราจร ได้เปิดเผยถึงการจัดการจราจร หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เริ่มประกาศคลายล็อกสถานการณ์โควิด-19 และเปิดภาคเรียนปกติทั่วประเทศ ว่า ได้ให้ตำรวจจราจรทุก สน.ในสังกัดของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 และกองบังคับการตำรวจจราจร

ระดมกำลังรวมกว่า 3,000 นาย ลงพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน โดยให้กำลังเจ้าหน้าตำรวจจราจรเข้าประจำจุดตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง เร่งระบายรถที่มารับส่งนักเรียนให้คล่องตัวที่สุด ได้ให้ สน.ทุกท้องที่ ประสานสถานศึกษาจัดสถานที่และรูปแบบการตรวจคัดกรองบริเวณโรงเรียนให้กระทบการจราจรน้อยที่สุด

นอกจากนี้ยังให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว และเตรียมรถยก เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรมีอุบัติเหตุ หรือมีเหตุที่กระทบต่อการจราจร ทั้งยังให้ ขสมก. ตรวจสภาพรถให้มีความพร้อมไม่ให้เกิดปัญหารถเสีย และ ประสานผู้รับเหมาขอคืนพื้นผิวการจราจรให้ได้มากที่สุด เพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัว ทั้งนี้ยังกำชับ สน.ทุกท้องที่ กวดขันบังคับใช้กฎหมายกรณีจอดรถผิดกฎหมาย เพื่อคืนพื้นผิวจราจรให้มีความคล่องตัว และในปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

ในเช้าวันพรุ่งนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนวางแผนและตรวจสอบเส้นทาง ก่อนออกเดินทางโดยเผื่อเวลาในการเดินทางอย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และเตรียมตัวให้พร้อมทั้งการเตรียมสัมภาระของบุตรหลาน ร่ำลากันให้เรียบร้อยก่อนถึงโรงเรียน โดยใช้เวลาที่หน้าโรงเรียนให้น้อยที่สุดอย่างน้อย 30 วินาที หากมากกว่านี้จะมีท้ายแถวเกิดขึ้น 1-2 กิโลเมตร


อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดในประเทศไต้หวัน ได้มีมาตรการเด็ดขาด สั่งปรับประชาชนที่กักตัวทิพย์ ให้จ่ายเงินกว่า 1 ล้าน โดยในเพจเฟซบุ๊ก Poetry of Bitch ได้เล่าถึงเรื่องนี้ว่า “กักตัวที่ไม่กักตัว ชายไต้หวันถูกปรับเป็นล้าน”

“นายจาง” (นามสมมติ) นักธุรกิจชาวไต้หวัน เดินทางกลับจากการทำธุรกิจที่ประเทศจีนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021

เมื่อมาถึงนายจางต้องกักตัวอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ของเขาเป็นเวลา 14 วัน ตามกฎในการกักกันโรคของไต้หวัน โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าเสียเวลาให้วันละ 1,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ประมาณ 1,000 บาท)

แต่นายจางกลับไม่รักษากฎ เขาออกจากอพาร์ตเมนต์ไปโน่นมานี่หลายครั้ง ไปซื้อของบ้าง ไปซ่อมรถบ้าง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและคนที่อยู่ในอพาร์ตเมนต์เดียวกันเตือนก็ไม่ฟัง ในที่สุดเลยมีคนแจ้งทางการ

ทางการก็รวบรวมหลักฐาน ภาพจากกล้องวงจรปิดต่าง ๆ พบว่าภายในเวลาเพียง 3 วัน นายจางแหกกักตัวออกมาถึง 7 ครั้ง ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรง จึงสั่งลงโทษทันที

โดยนายจางต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 1 ล้านบาท) แล้วถูกส่งไปกักตัวที่ศูนย์กักกันโรคจนครบ 14 วัน โดยรัฐจะไม่จ่ายค่าเสียเวลาให้เขาอีกต่อไป

ที่สำคัญนายจางต้องจ่ายเงินค่ากักกันโรคให้รัฐวันละ 3,000 ดอลลาร์ฯ ด้วย รวมเวลา 14 วันเป็นเงิน 42,000 ดอลลาร์ฯ (ประมาณ 44,000 บาท) คาดว่านายจางคงเข็ดไปอีกนาน