อาเซียน+3 ประกาศร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19!?! จับมือผลิตอาหารปลอดภัย ชูเกษตรอัจฉริยะทางเลือกพึ่งตนเอง

1819

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมประชุมอาเซียนบวก 3 ประกาศเดินหน้าร่วมมือผลิตอาหารปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืน พร้อมจับมือฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน โดยเห็นร่วมกันในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงและ นวัตกรรมทำเกษตรวิถีใหม่ ขณะที่มีมติจะรวมพลังหาแนวทางจัดการปัญหาและผลกระทบจากมาตรการ IUU ของตะวันตกในเดือนธันวาคมศกนี้ 

กระทรวงเกษตรฯ แสดงจุดยืนนโยบาย 3s (Safety- Security- Sustainability)พร้อมดันไทยเป็น Hub อาหารจากพืช(Plant-based Food)

ประเทศพันธมิตรที่มีประชากร 1 ใน 3 ของโลก

กลุ่มอาเซียน+3 (ASEAN+3, ASEAN Plus 3, อาเซียนบวกสาม) จะประกอบด้วยสมาชิก 13 ชาติ คือ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน อันได้แก่ ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศบรูไน รวมกับประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ โดยทั้ง 13 ประเทศจะมีประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรของทั้งโลก และจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 16 ของ GDP รวมทั้งโลก) ในขณะที่ยอดทรัพย์สินที่เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (สูงกว่า 50% ของเงินทุนสำรองของโลก)

จับมือหนุนเกษตรปลอดภัย

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ว่า การการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 42 การประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20 และการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอาเซียน-อินเดีย ด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 6 ร่วมกับรัฐมนตรีเกษตรอาเซียน 10 ประเทศ รัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดีย ผ่านการประชุมทางไกล ว่า ไทยได้เน้นย้ำนโยบาย 3 ด้าน หรือ 3S ของเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร และพร้อมจับมือกับอาเซียนและนานาประเทศ เพื่อเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจโลก และก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งและมั่นคง

ทั้งนี้การสร้างและผนึกกำลังการทำการเกษตรวิถีใหม่ (Agricultural New Normal) เพื่อตอบสนองต่อปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยประเทศไทยได้เสนอโครงการ ASEAN New Normal Plant-based Food Hub เนื่องจากเห็นว่าอาหารที่ทำมาจากพืช (Plant-based Food) เป็นสินค้าใหม่ที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยในการกำกับดูแลความมั่นคงอาหารและความปลอดภัยอาหาร สามารถตอบสนองชีวิตวิถีใหม่ และเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้ให้แก่ภาคการเกษตรของไทยและของอาเซียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ร่วมกับการบริหารทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน สามารถเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร แก้ไขปัญหาการอดอยากหิวโหย การขาดสารอาหาร และช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

หัวอกเดียวกัน-IUU รูปแบบกีดกันการค้า

ส่วนความคืบหน้าของไทยและอาเซียนในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ( IUU) โดยประเทศไทยได้พัฒนาระบบ Interactive Platform ของเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมงไอยูยู (ASEAN Network IUU : AN-IUU) เป็นช่องทางในการสื่อสารออนไลน์แบบโต้ตอบได้ทันท่วงที ซึ่งสามารถใช้งานได้เรียบร้อยแล้ว และประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ประสานงานของ AN-IUU ครั้งที่ 1 ในเดือนธ.ค. นี้ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีไทย และของผู้นำอาเซียนที่เน้นย้ำและสนับสนุนให้ทำการประมงอย่างยั่งยืน