ชำแหละ ปิยบุตร ไทม์ไลน์ชัดว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง! เตือนก้าวไกล ตามก้นยกเลิกม.112 เจอยุบพรรคแน่

2375

จากที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า ส.ส. ต้องเป็น “ผู้แทน” ของราษฎร มิใช่ “พนักงานของรัฐ” สถาบันการเมือง พรรคการเมือง ส.ส. ส.ว. ที่มีอำนาจอยู่ ต้องมีความรับผิดชอบในการนำประเด็นไปทำต่อ จะช้าเร็ว-มากน้อย ก็ว่ากัน แต่ต้องไปขยับ

อย่างน้อยที่สุด คือถ้าคุณเห็นว่าคนมาชุมนุม เขาเสียสละโดนคดีกันมาก ติดคุกทั้งชีวิต นับห้วงชีวิตอายุของคนคนหนึ่งอาจจะติดคุกยังไม่พอกับจำนวนคดีที่โดน อย่างน้อย ๆ 3 ประเด็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในปี 2563 ก็ต้องขยับไปในแนวทางนี้

ถ้า ส.ส. ไม่ขยับเลย จะตอบเยาวชนประชาชน-อนาคตของประเทศ จะเป็นความหวังให้เขาได้อย่างไร ในขณะที่คนจำนวนมากไปเรียกร้อง แต่ถ้าวันหนึ่งเขาสิ้นหวังกับพรรคการเมือง นักการเมือง ผู้แทนราษฎร คราวนี้ระบบการเมืองจะปั่นป่วนโกลาหล

ทุก ๆ วินาทีที่อยู่ในสภา ทุกจังหวะโอกาสที่มี ควรจะต้องขับเคลื่อนได้มากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะไม่สำเร็จ แต่คือเมล็ดพันธุ์ ขอให้ได้ขยับ ภารกิจสำคัญของผู้แทนราษฎรคือเรื่องแบบนี้

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ “ผู้แทน” ของ “ราษฎร” ผู้ที่ได้เป็น ส.ส. ไม่ควรคิดว่า ส.ส. เป็น “อาขีพ” เมื่อเป็นแล้วก็ติดใจหลงใหลต้องเป็นอีก จนทำให้ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลยเพื่อ “ราษฎร” เพราะเกรงว่าจะถูกกลไกรัฐเข้าทำลายจนตนเองต้องถูกขับออกจากการเมือง

ถ้า ส.ส. คิดว่า ส.ส. เป็น “อาชีพ” ต้องเป็นต่อไปเรื่อย ๆ เขาจะขาดความเป็นอิสระ ขาดความกล้าหาญ และสยบยอมต่อกลไกรัฐ ไม่กล้าท้าทายปฏิรูปเรื่องใหญ่ ๆ ในท้ายที่สุด ส.ส. ก็จะกลายเป็น “พนักงานของรัฐ” ไป

หาก ส.ส. ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพและอำนาจประชาชน กฎหมายที่แปลง “ประชาชน” ผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ให้กลายเป็น “ไพร่” แล้ว ส.ส. ก็เป็นเพียงคนที่หายใจไปวัน ๆ เพื่อตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ ของตนเท่านั้น

เมื่อ ส.ส. ถูกทำให้เป็น “พนักงานของรัฐ” ไม่ใช่ “ผู้แทนประชาชน” แล้ว กลไกรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยก็ได้ครอบงำเบ็ดเสร็จ เมื่อสถาบันทางการเมืองที่ถืออำนาจรัฐไม่อาจสนองตอบความต้องการประชาชนได้ เมื่อนั้น “ประชาชน” จักปรากฏกายขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงกันเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีภายหลังจากที่พรรคก้าวไกลมีมติดำเนินการเพื่อแก้ไขยกเลิกกฎหมายอาญา ม.112 และมี ส.ส.พรรคก้าวไกลบางคนออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย และจะไม่ออกเสียงลงมติดังกล่าว โดยนายปิยบุตร ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวหัวข้อว่า ส.ส. ต้องเป็น “ผู้แทน” ของราษฎร มิใช่ “พนักงานของรัฐ” พร้อมแฮชแท็ก “ยกเลิก112” นั้น

ถือว่าเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 29 แห่ง พรป. พรรคการเมือง 2560 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” ซึ่งหากพรรคก้าวไกลและสมาชิกยังคงดำเนินการยื่นญัตติและลงมติเพื่อแก้ไขยกเลิกกฎหมายดังกล่าวแล้ว ก็จะเป็นการชัดเจน มีผลให้นายปิยบุตรต้องโทษตามมาตรา 108 คือ จำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,00-200,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

“นอกจากนี้ สำหรับพรรคก้าวไกลหากยังคงเดินหน้าดำเนินการยื่นญัตติและลงมติเพื่อแก้ไขยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ก็อาจจะเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 28 แห่ง พรป. พรรคการเมือง 2560 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” ทำให้ต้องได้รับโทษยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92(3) และคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 92 วรรคท้าย”

จากการแสดงออกของนายปิยบุตรเองนั้น แสดงให้เห็นลักษณะของการเผด็จการทางความคิด และเป็นที่น่าเสียดายที่นายปิยบุตรไม่สามารถควบคุมโทสจริตของตนเองได้จนมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการพยายาม ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้พรรคการเมือง และ ส.ส. ดำเนินการแก้ไขยกเลิกกฎหมายอาญา ม.112 ในสภา

นอกจากนี้การชี้นิ้วประณาม ส.ส. ว่า “..ส.ส. ก็เป็นเพียงคนที่หายใจไปวัน ๆ เพื่อตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ ของตนเท่านั้น หาก ส.ส. ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ..” ซึ่งในที่นี้หมายถึงการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแฮชแท็กในโพสต์ดังกล่าวแล้ว ก็ขอให้นายปิยบุตรย้อนดูการกระทำของตัวเองว่าที่ผ่านมาในขณะที่เป็น ส.ส. นั้น นายปิยบุตรก็เข้าข่ายเป็น ส.ส. ที่หายใจไปวัน ๆ เพื่อตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ ของตนเอง และคิดว่า ส.ส. เป็น “อาชีพ” ตามที่ว่าคนอื่นหรือไม่ อยากให้ศึกษาสุภาษิตไทยที่ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” ด้วย

หากไล่ตามไทม์ไลน์ นายปิยบุตรก็กลับไปกลับมาในประเด็นดังกล่าวและหยุดเคลื่อนไหวแก้ไขยกเลิกกฎหมายเพื่อดำรงความเป็น ส.ส. ของตัวเองไว้ ดังนี้

เมื่อ 17 ม.ค. 2555 นายปิยบุตรในฐานะนักวิชาการได้เข้าร่วมลงชื่อในคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด

เมื่อ 27 มี.ค. 2561 เมื่อเข้ามาเป็นนักการเมือง ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่เพื่อสมัครเป็น ส.ส. ก็ประกาศหยุดเคลื่อนไหว และเคยให้สัมภาษณ์ ว่า “ขอยืนยันว่าจะไม่นำเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเกี่ยวข้องกับพรรค และไม่นำไปผลักดันในพรรค”

เมื่อ 8 เม.ย. 2561 ยืนยันอีกครั้งโดยนายธนาธร ว่า หากเป็นนายกฯ ไม่คิดแก้ ม.112 แม้นายปิยบุตรเคยเคลื่อนไหวก็ตาม

ต่อมาเมื่อนายปิยบุตรไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งแล้ว นายปิยบุตรก็กลับมาเคลื่อนไหวการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอีกและยังพยายามชี้นำ ครอบงำ ส.ส. ให้ผลักดันแก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้วย โดยเมื่อ 14 ม.ค. 64 ได้ออกมาโพสต์ข้อความยอมรับเองว่า “กลางเดือนมีนาคม 2561 สมัยผมเริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ผมยอม “กลืนเลือด” ตัดสินใจขัดแย้งกับมโนธรรมสำนึกของผมอย่างสิ้นเชิงมาแล้ว ด้วยการประกาศว่า ไม่มีนโยบายแก้ 112 ทั้งนี้ ก็เพื่อขจัดอุปสรรคขัดขวางให้พรรคก่อตั้งได้ ให้พรรคได้ไปต่อ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ เพื่อฝ่าแรงเสียดทานจนไปสู่การลงเลือกตั้งได้ และด้วยหวังว่าเขาจะปรานีให้พรรคอนาคตใหม่ได้ต่อสู้ทางการเมือง”

คำพูดตามไทม์ไลน์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่านายปิยบุตร ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่หายใจไปวัน ๆ เพื่อตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ ด้วยหรือไม่?