ปองพลเล่าที่ตั้งมธ.การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เผยสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง!

5322

จากที่ ปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เล่าถึงที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เป็นของใคร หลังจากมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยกลุ่มประชาชนปลดแอกจะจัดการชุมนุมในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 19 ก.ย. 63

ทั้งนี้แต่ทางคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯโดยอธิการบดีได้ปฏิเสธที่จะให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯเป็นที่จัดชุมนุม ทางผู้นำการชุมนุมก็ยังยืนยันที่จะเข้าไปจัดการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยฯให้ได้โดยอ้างว่าเป็นสิทธิของพวกตนและชาวธรรมศาสตร์ และนำพวงหรีดไปวางที่อนุสาวรีย์ของดร.ปรีดี พนมยงค์ในมหาวิทยาลัยฯเพื่อขออนุญาตใช้สถานที่จัดการชุมนุม ทำให้ผมอยากรู้ว่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นั้นเป็นที่ดินดั้งเดิมของใครและมาเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อย่างไร

ล่าสุดวันนี้(14ก.ย.63) นายปองพล ได้โพสต์ข้อความถึงเรื่องราวดังกล่าวอีกครั้งว่า

ที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นของใคร (2)

หลังจากที่ผมได้โพสต์เรื่อง “ที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นของใคร” ไปแล้ว ได้มีผู้สนใจเข้าไปอ่านเป็นจำนวนมาก และบางคนได้ปรารภว่าอยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดจนพระบรมมหาราชวังซึ่งเรียกกันว่าวังหลวง และพระราชวังบวรสถานมงคล คือวังหน้า ผมได้เคยค้นคว้าหาข้อมูลของการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งคือกรุงเทพมหานครขณะเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “รัตนโกสินทร์ กำเนิดกรุงเทพ” ใน พ.ศ. 2548 จึงขอสรุปประวัติการก่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์อย่างย่อมาให้อ่านกันครับ

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงธนบุรีสืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างราชธานีขึ้นใหม่เนื่องจากกรุงธนบุรีมีพื้นที่คับแคบไม่อาจขยายได้และตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้ข้าศึกซึ่งมักยกทัพมาทางด้านตะวันตกเข้าโจมตีได้ง่าย เพราะขณะนั้นเวลาได้ผ่านไปเพียง 15 ปีเท่านั้นที่กองทัพพม่าได้ยึดกรุงศรีอยุธยาและเผาทำลายจนไม่สามารถฟื้นฟูให้เหมือนเดิมได้ จึงทรงย้ายราชธานีมาฝั่งตะวันออกซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองเล็กๆเรียกว่าบางกอก แต่มีพื้นที่กว้างขวางและมีแม่น้ำเจ้าพระยาอันกว้างใหญ่เป็นกำแพงธรรมชาติที่จะสกัดกั้นมิให้ข้าศึกเข้าประชิดตัวเมืองได้ง่าย

พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิมบุญมา ได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้เป็นผู้ออกแบบและเป็นแม่กองในการก่อสร้างราชธานีแห่งใหม่เนื่องจากบุญมาเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในพระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 8 ปีในวัย 16 ถึง 24 ปี ขณะที่รัชกาลที่ 1 ดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ในวันที่กรุงศรีฯแตก บุญมากับเพื่อนอีก 3 คนหลบหนีออกจากกรุงศรีฯได้ขณะที่กองทัพพม่าเข้ายึดกรุง และพายเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงหมู่บ้านบางกอกซึ่งอยู่ตรงข้ามเมืองธนบุรี บุญมาได้อธิษฐานต่อพระประธานในโบสถ์ของวัดร้างแห่งหนึ่งคือวัดสลัก ขอให้ตนและเพื่อนมีชีวิตรอดปลอดภัยเดินทางไปถึงราชบุรี แล้วจะกลับมาบูรณะวัดแห่งนี้

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ออกแบบสร้างกรุงรัตนโกสินทร์บนพื้นที่ 2,500 ไร่ซึ่ง ใหญ่กว่ากรุงธนบุรี 3 เท่า โดยให้มีพระบรมมหาราชวังตั้งอยู่บนพื้นที่ 150 ไร่ รูปแบบเช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวังของกรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางการบริหารและปกครองราชธานี มีวัดพระรัตนศรีศาสดารามประดิษฐานพระแก้วมรกตอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในขั้นแรกได้สร้างพระที่นั่งและพระราชมณเฑียรด้วยไม้เป็นการชั่วคราวเพื่อให้เสร็จทันฤกษ์พระราชพิธีปราบดาภิเษกอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325

ทางด้านเหนือของพระบรมมหาราชวังมีสนามหลวง เช่นเดียวกับที่กรุงศรีอยุธยา ขนานไปกับบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ซึ่งรวมทั้งวัดสลักซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างวังหลวงกับวังหน้า กรมพระราชวังบวรฯได้ทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรวัดสลักใน พ.ศ. 2326 ตามที่ได้ทรงอธิษฐานไว้ เป็นราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก และได้เปลี่ยนชื่อหลายครั้งเป็นวัดนิพพานาราม วัดพระศรีสรรเพชร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ใน พ.ศ. 2439 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงมีพระอัครชายาคือเจ้าศรีอโนชาพระขนิษฐาของพระเจ้ากาวิละพระเจ้าเชียงใหม่และหม่อมอีก 32 คน มีพระราชโอรสธิดารวมทั้งสิ้น 43 พระองค์ ประทับอยู่ในบริเวณวังชั้นในซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ส่วนพระที่นั่งที่ประทับของพระองค์คืออาคารในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปัจจุบัน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ทรงรับขานพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงเป็นแม่ทัพเอกของสองราชอาณาจักรได้แก่ราชอาณาจักรธนบุรีและราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ทรงรบในศึกสงคราม 24 ครั้ง รวมทั้งสงครามกู้อิสรภาพจากพม่าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินและสงคราม 9 ทัพในการป้องกันกรุงรัตนโกสินทร์จากการรุกรานของพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าใน พ.ศ. 2328 พระองค์ได้รับฉายาจากข้าศึกศัตรูว่า “พระยาเสือ” จากฝีมือการรบที่เก่งกล้าและดุดัน

ทรงพระประชวรด้วยโรคนิ่ว เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระราชวังบวรสถานมงคล วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 พระชนมายุ 60 พรรษา ได้มีการกล่าวถึงอาถรรพ์คำสาปแช่งของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล ก่อนเสด็จสวรรคตว่า “….ใครไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข….”

ขอเตือนว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ให้ไปดูประวัติของการมาใช้และครอบครองพระราชวังบวรสถานมงคลโดยบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะปาฎิหารย์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งผมได้ประจักษ์ด้วยตนเองมาแล้ว ไว้มีโอกาสจะเล่าให้ฟัง ขอเรียนให้ทราบเป็นการปิดท้ายว่า วันพระราชสมภพของพระองค์คือ 19 กันยายน พ.ศ. 2286

ที่มา : เฟซบุ๊ก Pongpol Adireksarn