หลังจากที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็น กรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ระบุถึงแนวคิดให้กรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท
เพื่อจัดซื้อวัคซีนสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จำนวน 8 ล้านคน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง เช่น ที่เทศบาลนครนนทบุรี และเทศบาลนครแหลมฉบัง ที่จะจัดหาวัคซีนให้ประชาชนในเขตของตนเอง โดยสรุปสาระสำคัญว่า เป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน เป็นความหวังดีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการได้ภายใต้กรอบกฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง แต่อยากให้ย้อนกลับมาฉุกคิดว่า แท้จริงแล้วผู้ที่มีงบประมาณเหลือมากที่สุด และมีหน้าที่โดยตรงในการจัดการปัญหานี้คือใครกันแน่ สำหรับตนแล้วเห็นว่าเป็นหน้าที่อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของรัฐบาลไทย
และในเวลาต่อมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้แชร์โพสต์ของ นายพิธา พร้อมแสดงความเห็นว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่ภาระของท้องถิ่น ยิ่งรัฐบาลโยนความรับผิดชอบแบบนี้ไปให้ท้องถิ่น ท้องถิ่นต้องควักเงินตัวเอง ก็เท่ากับว่าท้องถิ่นถูกเบียดบังงบประมาณในการดูแลสวัสดิการด้านอื่นๆ ของประชาชนในท้องถิ่นไปอีกนั้น
ล่าสุดนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ (นายกอุ๊ ) นายกอบต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตอบกลับนายพิธา และนายะนาธร โดยมีรายละเอียดดังนี้
“ในฐานะ นายกอบต เล็ก ๆ ชายขอบบ้านนอก ของพระนครศรีอยุธยา”
จะขอตอบ คุณพิธา และคุณธนาธร นักการเมืองระดับชาติว่า
คุณค่อย ๆ ไปอ่านและศึกษาภาระกิจบทบาทหน้าที่ ของท้องถิ่นให้ดีก่อน
สำหรับผม ทำไมควรเอาเงินสะสมของท้องถิ่นออกมาดำเนินการ
ผมตอบแบบนี้ครับ
1. เงินสะสมท้องถิ่นไม่มีความจำเป็นต้องเก็บไว้มากเกิน เพราะเงินภาษี ควรนำมาใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้มาเก็บฝากแบงค์ รัฐกับเอกชนต่างกัน ในขณะที่ประชาชนลำบากแต่ท้องถิ่นมีเงินเหลือใช้ และเป็นเงินภาษีของประชาชน การดูแลประชาชนจึงเป็นเรื่องชอบธรรม จะเงินส่วนกลางหรือเงินท้องถิ่นก็คือเงินของประชาชน เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เงินส่วนตัวใคร การมีเงินสะสมเหลือมากมีสามกรณีคือ ท้องถิ่น ไม่ทำอะไรกับงบประมาณเหลือมากเพราะใช้เงินไม่เป็น หรือมันเจริญจนไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไรแล้ว ในขณะที่ประชาชนยากลำบากแต่รัฐมีเงินฝากธนาคารมาก มันควรหรือไม่
2. ภารกิจการดูแลประชาชนเป็นหน้าที่ปกติของท้องถิ่นที่มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนตนเอง ลดอำนาจของส่วนกลางลง
3. ท้องถิ่นไหนมีความเข้มแข็งลดการพึ่งพาจากส่วนกลางลงได้ นั่นคือความสำเร็จของการกระจายอำนาจเพื่อดูแลประชาชนและการพัฒนาในพื้นที่ ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ท้องถิ่นทุกแห่งทำหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
4. เรื่องวัคซีนรัฐบาลทำหน้าที่เรื่องมาตรฐานอย. และการดูแลในส่วนของกลุ่มที่ขาดแคลนและต้องดูแล กลไกของรัฐบาลผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ท้องถิ่น อบต. เทศบาล อบจ. ก็เป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลตามกฏหมาย ดังนั้นการบูรณาการร่วมกันทั้งงบประมาณและบุคลากร ย่อมก่อให้เกิดผลดีและรวดเร็วที่จะช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ ทุกวันนี้กลไกท้องถิ่น มีความพร้อม มีบุคลากร รู้พื้นที่ละเอียด เข้าถึงได้ดีที่สุดกว่ากลไกหน่วยงานอื่น ในระบบราชการ หากรู้จักใช้ประโยชน์จะมีผลดีต่อทุกภาคส่วน นั่นหมายถึง ประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม เท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรม
5. ท้องถิ่นไหนพร้อมให้เขาทำ เพราะ นั่นคือเขาเข้มแข็ง ท้องถิ่นไหนไม่พร้อมส่วนกลางก็ดำเนินการเองหรือช่วยเหลือ ก็แค่นั้นไม่ยากอะไร เป็นเรื่องดี ที่ทุกภาคส่วนจะลุกขึ้นมา ร่วมมือกัน
6. อนาคต วัคซีนจะเป็นเรื่องปกติหาซื้อไม่ได้ยากอะไรแบบวัคซีนทั่วไปในอดีต โรคระบาด ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดครั้งแรก ในประวัติศาสตร์มันเกิดมาแล้วหลายครั้ง
7.ความมั่นใจของประชาชนที่ต้องรอความหวังจากวัคซีน ที่จะทำให้วิถีชีวิตปกติกลับคืนมาเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน พื้นที่ไหนพร้อมทำก่อน นั่นคือ เศรษฐกิจ สังคม การทำมาหากินจะกลับคืนมาสู่ประชาชน
8. ส.ส. นักการเมืองคนไหน ยังมีความคิดว่า ทุกอย่างคือภาระของรัฐบาลกลาง คุณอย่าไปหาเสียงหรือลงเลือกตั้งนายก อบจ. เทศบาล หรืออบต. นั่นเพราะคุณยังไม่เข้าใจคำว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ลดอำนาจส่วนกลางลง กระจายอำนาจสู่ประชาชน ท้องถิ่นเข้มแข็ง คือความสำเร็จของประชาชนที่แท้จริง
ปล. เป็นนายกอบต. ไม่มีฟลุค แบบเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ นะครับ