อานนท์เคลมกวางจูเห็นด้วยปฏิรูปสถาบันไทย? ยิ่งใหญ่ขู่เอาผิดศาล-ตร.หมายจับมั่ว

2400

จากที่คณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประกาศเกียรติคุณ อานนท์ นำภา ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแกนนำม็อบคณะราษฏร ที่ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี2564 นั้น

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2541 นายอานนท์ ได้เริ่มต้นอาชีพทำงานด้านกฎหมาย ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เคลื่อนไหวในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนโดยไม่รับค่าตอบแทน

โดยหลังจากเกิดการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี 2557 นายอานนท์ ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการปกป้องผู้ที่ถูกฟ้องร้องจากประมวลกฎหมายอาญา ม.112 รวมถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารฯ

ขณะที่นายอานนท์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแสดงความยินดีนะครับ แว้บแรกที่รู้ว่าได้รางวัลรู้สึกดีใจที่มีคนเห็นด้วยกับเรา มีองค์กรระดับนานาชาติเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

“ผมทราบภายหลังว่าคนรุ่นใหม่ในมิตรประเทศหลายประเทศเห็นด้วยและยืนอยู่ข้างเรา สนับสนุนการต่อสู้ของเรา ช่วงที่ผมติดคุก ผมทราบว่ามิตรประเทศหลายแห่งออกแรงเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการใช้ความรุนแรงกับเรา และมิตรประเทศหลายที่ยังส่งแรงเชียร์ในทุกรูปแบบกำลังใจมาที่เมืองไทย ขอบคุณครับ เราจะสู้ไปด้วยกัน ให้มันจบที่รุ่นเรา !!!”

ต่อมานายอานนท์ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องมาตรา 112 และการถูกดำเนินคดีของม็อบซึ่งเป็นนักศึกษา ที่โดนออกหมายจับด้วยว่า

เหมือน 112 จะถูกใช้มัดมือมัดเท้านักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างแท้จริง ตำรวจออกหมายจับนักศึกษาธรรมศาสตร์เพิ่มอีก และน่าจะมีอีกหลายคนตามมา

ความเสื่อมของมาตรา 112 มาพร้อมกับความเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ ยิ่งใช้มากยิ่งเป็นการออกใบเสร็จว่ามีคนเสื่อมศรัทธามาก อีกไม่นานคงถึงจุดเปลี่ยน ขอให้ทุกคนพร้อมรับแรงกระแทกครั้งสุดท้าย…

มันคนละยุคกันจริงๆนะครับ นี่มันยุคที่คนคิดเป็นและออกจากกรอบศีลธรรมความคิดเดิมๆที่ล้าหลัง  แต่เขากุมหลักการเสรีภาพ และความเท่าเทียมในแก่นของมัน

ไอ้ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะทำอะไรก็ได้ตามใจ  มันหมดสมัยแล้ว กรณีออกหมายจับคนมั่วๆ เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและศาลต้องแสดงความรับผิดชอบ ก่อนที่เราจะเอาพวกท่านเข้าสู่กระบวนการบังคับให้รับผิดชอบ !!!

อย่างไรก็ตาม นายอานนท์ นับเป็นคนไทยคนที่ 3 ต่อจากนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้รับรางวัลนี้ ในปี 2549 และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้รับรางวัลเมื่อปี 2560 โดยขนาดนั้นนายจตุภัทร ยังคงอยู่ในเรือนจำ

สำหรับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู เป็นรางวัลที่ ‘มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก’ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้ มอบให้แก่นักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ลุกฮือทางการเมืองของชาวเกาหลีใต้ที่ออกมาต่อต้านการปกครองโดยเผด็จการทหาร เมื่อพฤษภาคม ปี 2523

ขณะที่ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดมาตรา 116 และ 112 ว่า ได้ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ ระดับกองบัญชาการ ที่สำคัญตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ใช่นโยบาย และตำรวจจะละเว้นไม่ได้ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามิสิทธิพบทนายความ เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาตำรวจไม่ได้ปิดกั้นสิทธิดังกล่าว ทั้งนี้การเรียกร้องทางการเมืองเป็นสิทธิเช่นกัน แต่ต้องระวังไม่ให้ไปกระทบสิทธิของผู้อื่น หรือไม่ให้เกิดการกระทำความผิดกฎหมายเรื่องอื่น การเคลื่อนไหวที่กระทบสิทธิผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน ผู้เคลื่อนไหวต้องรับผลจากการกระทำนั้น

ทั้งนี้เมื่อถามว่ากรณีนายชยพล ดโนทัย หรือเดฟ นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ที่ถูกพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ออกหมายจับในมาตรา 112 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และเป็นการจับแพะ พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวว่า หากเขายืนยันว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการสอบสวน สามารถเอาพยานแวดล้อม พยานบุคคล มายืนยันกับพนักงานสอบสวนได้ เรื่องการแจ้งข้อกล่าวหากับใคร เราสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นยังไม่ได้กระทำผิด เพียงแต่ว่ามีพยานหลักฐานกล่าวหาว่าผิด เขาก็นำหลักฐานมายืนยัน ตรงนี้เป็นสิทธิอยู่แล้ว