กอ.รมน.รับติดโซล่าร์เซลล์”อมก๋อย”45 ล้านจริง ขณะพี่ศรีฯ นำเทียบ พิมรี่พาย แค่5แสน ร้องสตง.สอบ!?!

3020

กอ.รมน.เปิดเอกสารโครงการโซลาร์เซลล์ “อมก๋อย” 45 ล้าน ด้าน ศรีสุวรรณ นำเทียบ “พิมรี่พาย” จ่อร้อง สตง.สอบ

จากกรณีที่ พิมรี่พาย พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์และยูทูปเบอร์ชื่อดัง ได้เดินทางไปที่ หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและเด็กๆ ซึ่ง พิมรี่พาย ก็ได้ทุ่มเงินของตัวเองกว่า 5 แสนบาท ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และซื้ออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาส โดยวันที่ทำกิจกรรมดังกล่าวนั้น มีครูเจตน์ สทธิคุณ เป็นครูประจำที่สอนอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ และได้เล่าว่าที่หมู่บ้านเด็กประมาณ 40 คน เด็กไม่มีความฝันเพราะมองภาพอะไรไม่ออก ทั้งหมู่บ้านไม่มีใครเรียนจบ ม.ต้นเลยสักคน พวกเขาจินตนาการไม่ออกว่า ถ้าได้เรียนต่อแล้วมันจะเป็นยังไงต่อ ที่นี่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีทีวีที่สามารถเผยแพร่ให้เด็ก ๆ ดูได้ และการมาทำกิจกรรมของพิมรี่พายในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโลกให้เด็ก ๆ ซึ่งก็มีคนออกมาชื่นชมพิมรี่พายเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ก็ได้มีคนได้นำเรื่องของพิมรี่พาย มาเชื่อมโยงกับการเมือง เพื่อโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเรื่องของโครงการพระราชดำริ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Beam Akapol นิสิตมหาวิทยาลัยชื่อดัง ที่โพสต์ข้อความถึงกรณีของพิมรี่พาย และโยงไปถึงโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยระบุข้อความว่า

“พิมรี่พายขึ้นดอยครั้งเดียวเด็กมีไฟฟ้าใช้ แต่…ขึ้นดอยมา 70 ปี ….//ไม่พูดดีกว่า”

รวมไปถึงเหล่าแกนนำกลุ่มคณะราษฎรที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน ก็ออกมาโหนเรื่องดังกล่าว และนำไปโจมตี หมิ่นพระเกียรติในหลวงร.9 จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางด้านพิมรี่พายก็ได้ออกมาพูดถึงดราม่าดังกล่าวว่า ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องราวใหญ่โตเช่นนี้ หลังปล่อยคลิปออกไป ก็ได้ลองชั่งน้ำหนักของการแสดงความคิดเห็นทั้งชื่นชอบและเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ เพราะอาชีพของตนจะต้องสร้างภาพให้ลูกค้าได้เห็น จะสร้างแบบไหนก็อยู่ที่คุณธรรมในหัวใจ

ตนยึดหลักกตัญญูต่อแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน มั่นใจว่าไม่ได้ทำความผิด อยากทำความดี มองโลกใหม่ ไม่ทำคอนเทนต์บ้าๆบอๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว อยากทำความดีสู่สังคม ตนผิดอะไร ถ้าจะผิดโทษตัวเอง กราบขอโทษทุกท่าน เรื่องนี้ผิดที่ตนบกพร่อง ไม่ได้ประสานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ล่วงหน้า ขออภัยจริงๆ

“อีกเรื่องที่ไม่พูดไม่ได้เลย จะดราม่าอะไรกันนักหนา เอากูไปโยงทำไม เอากูไปเป็นเครื่องมือความสนุกของพวกมึงทะเลาะกัน โยงอะไรกันนักหนา”

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวดังกล่าวหลังจากที่มีการเชื่อมโยงและนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อโจมตีสถาบันแล้ว ยังมีการโจมตีไปถึงรัฐบาลที่ใช้งบประมาณในโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยในโลกโซเชียลเริ่มมีการแชร์ภาพใบสรุปราคากลางแผงโซลาร์เซลล์ในปี 2562 ของพื้นที่อำเภออมก๋อย

โดยเป็นใบสรุปราคากลางที่คำนวณไว้ในวันที่ 2 เมษายน 2562 เพื่อใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 โดยราคาสำหรับ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 210 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน มีราคาค่าก่อสร้างอยู่ที่ 45,205,109.91 บาท

ซึ่งก็มีสาวกปลดแอก นำมาโจมตีว่า พิมรี่พายใช้งบประมาณเพียง 500,000 กว่าบาท แต่รัฐบาลใช้งบประมาณในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ถึง 45 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้

ล่าสุดทางด้าน พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้กล่าวถึงกรณีที่มีเอกสารที่เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ของ กอ.รมน.ภาค 3 เผยแพร่ในโลกโซเชียลว่า จากการประสานงานกับ เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 3 ได้แจ้งมาแล้วว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง และเป็นเอกสารที่ใช้ในการเผยแพร่ ราคากลางของโครงการฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน พรบ.การจัดซื้อจัดจ้าง มาตรา 56 วรรค 1 ของภาครัฐ ด้วยวิธีการประมูลราคากลางผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมบัญชีกลาง

สำหรับงบประมาณของโครงการจำนวน 45 ล้าน ได้ผ่านการรับรองราคาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งรายละเอียดของโครงการ พอสรุปได้ดังนี้ เป็นการดำเนินการจำนวน 5 พื้นที่ในอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นการดำเนินการโดยมีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 210 กิโลวัตต์ และเสาไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ จำนวน 120 ต้น พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเทียม) จำนวน 998.40 กิโลวัตต์ และได้ดำเนินการจัดทำโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน,โดยมีการลากสายไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้าน จำนวน 5,409 เมตร และติดตั้งเสาไฟฟ้าเป็นต้น ซึ่งไม่ใช้พื้นที่ที่พิมรี่พายไป

โดยก่อนหน้านี้ มีการนำเอกสารราชการแบบสรุปราคากลางงานก่อสร้างอาคาร  โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ทุรกันดาร ในอ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยชี้ปมว่ามีการใช้งบประมาณ กว่า 45ล้านบาทเพื่อดำเนินการไปแล้ว แต่ไม่ปรากฎว่ามีแผงโซล่าเซลล์ และระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่หมู่บ้านที่ “พิมรี่พาย”ได้บริจาคเงินเพื่อทำโครงการช่วยเหลือเยาวชนในพื้นที่เพราะไม่มีไฟฟ้าใช้แต่อย่างใด โดยเอกสารของ กอ.รมน.ภาค 3 ได้แจกแจงว่าเป็นคนละหมู่บ้านกับโครงการใช้งบประมาณดังกล่าว

โดยวันนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะเดินทางร้องเรียนต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ใช้อำนาจตาม พรป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ดำเนินการตรวจสอบไต่สวนและวินิจฉัยว่าโครงการติดตั้งโซล่าเชลล์ของ กอ.รมน.ทั้ง 5 พื้นที่มีความคุ้มค่า มีผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือมีการกระทำการอันอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และหรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของ กกต. มีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่

อย่างไรก็ตามมูลค่าของโครงการดังกล่าวเมื่อเทียบกับกรณี “พิมรี่พาย” ใช้เงินกว่า 5 แสนบาท เพื่อทำโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ติดตั้งทีวีที่หมู่บ้านแม่เกิบโดยเฉลี่ยกิโลวัตต์ละ 57,692 บาท ส่วนของ กอ.รมน.เฉลี่ยกิโลวัตต์ละ 215,262 บาท แล้วมีความแตกต่างกันมาก ที่สำคัญเมื่อดูรายละเอียดตามเอกสาร BOQ ก็จะพบว่าหลายรายการมีราคาแพงกว่าปกติ เช่น แบตเตอรี่ลิเทียมขนาด 200 กิโลวัตต์-ชั่วโมงมีราคาถึงชุดละ 5,000,000 บาท แต่ถ้าเป็นขนาด 120 กิโลวัตต์-ชั่วโมงมีราคาถึง 3,000,000 บาทต่อชุด เครื่องควบคุมประจุแบตเตอรี่และเครื่องแปลงกระแสขนาด 30 กิโลวัตต์ราคาถึง 600,000 บาทต่อชุด แค่ค่าประตูสำเร็จรูปยังราคาถึง 15,000 บาทต่อบานเลย ฯลฯ ทั้งนี้แม้ในรายละเอียดโครงการของ กอ.รมน.จะมีการลากสายไฟฟ้าและติดตั้งเสาไฟฟ้าด้วยก็ตาม ก็น่าที่จะเป็นราคาที่สูงเกินไปมาก นอกจากนั้นยังเป็นที่สงสัยว่าบริษัทที่เสนอราคาต่ำที่สุดจำนวน 44,707,745 บาท เหตุใดจึงไม่เป็นผู้ชนะการประมูล จึงสงสัยว่าเป็นการประมูลที่โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ด้วย